งาน Facebook Developer Event หรือ F8 ครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่หลายคนกำลังตื่นเต้นกับความสามารถใหม่ๆ อย่าง Timeline, Open Graph หรือ Ticker
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป คือการนำเสนอความสามารถเหล่านี้ โดยมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ทำได้ดีขึ้นผิดหูผิดตาจากสมัยก่อนมาก จนหลายคนเริ่มจะตั้งคำถามว่า
“หรือมาร์คจะเป็นสตีฟ จ็อบส์คนต่อไป ?”
อดีต Mark Suck
เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาเฟสบุ๊คได้เชิญนักข่าวมาที่สำนักงานใน Palo Alto เพื่อเปิดตัวความสามารถใหม่คือ Video Chat ที่เฟสบุ๊คร่วมมือกับ Skype
โดยในวันนั้นแค่สไลด์แรก มาร์คก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับนักข่าวด้วยการเปิดกราฟ “Logarithmic graphs” หรือกราฟล็อกที่นอร์มอลไลซ์แล้วอธิบายว่านี่คือกราฟที่อธิบายได้ง่าย แต่เสียงตอบรับจากนักข่าวที่กำลังรายงาน Live Blog ในตอนนั้นคือ
- “Logarithmic graphs? Jesus Christ.”
- “After this, I need an UM detox program..”
- “Someone needs to bump him to get him to stop saying UM”
ภาพจาก Business Insider |
ไม่เพียงเท่านี้ การนำเสนอของมาร์คในวันนั้นก็เข้าขั้นแย่มาก ทั้งสไลด์ที่ใช้ดูน่าเบื่อ ห้องที่พูดเล็กเกินไป การพูดที่ไม่น่าฟัง จนนักข่าวหลายสำนักต้องออกมาเขียนบล็อกวิจารณ์การพรีเซนต์ของมาร์คกันยกใหญ่
- When it comes to presentation, Mark Zuckerberg is no Steve Jobs – CNN
- For Winning Presentations, Be Steve Jobs, Not Mark Zuckerberg – BNet
- On Stage, Mark Zuckerberg is No Steve Jobs – Tom Guide
F8 งานใหญ่ที่พลาดไม่ได้
บางคนบอกว่างาน Facebook Developer ในปีนี้ เป็นก้าวใหม่ของที่สำคัญระดับ Facebook 2.0 เลยทีเดียว ซึ่งงานนี้นอกจากจะมีสื่อมวลชนที่มาทำข่าวกันมากมายแล้ว ก็ยังมีการถ่ายทอดสด Keynote ครั้งนี้ไปทั่วโลกผ่านทาง Facebook Live อีกด้วย
ซึ่งมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กก็สร้างความแปลกใจให้สื่อหลายสำนักด้วยการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี การพูดที่ลื่นไหล มีสไลด์ที่เข้าใจง่าย และเห็นได้ชัดว่ามีการซ้อมมาอย่างหนักก่อนงานในครั้งนี้ (วิดีโอ Keynote Facebook F8)
การเตรียมตัว, อุปกรณ์, เวที
ในงาน Skype Event ทีมงานเฟสบุ๊คเลือกใช้สถานที่คือห้องประชุมของบริษัท ซึ่งคับแคบ และมีแสงลอดมาจากหน้าต่าง โปรเจ็คเตอร์ขนาดเล็ก 2 ตัว ผู้พูดถือไมค์จ่อที่ปาก ผู้ฟังหันข้างให้เวที และหันหน้าหากันบนโต๊ะ ทำให้สมาธิในการฟังลดลงมาก
ภาพจาก CNet |
ในงาน F8 นั้นทีมงานเตรียมการโดยใช้สถานที่ The Concourse ใน San Francisco ซึ่งกว้างขวางกว่าเดิมมาก ใช้พื้นหลังเป็นจอโปรเจ็คเตอร์ขนาดใหญ่ มีหน้าจอขนาดเล็กข้างล่างไว้ให้ดูสไลด์ต่อไปได้ถึง 3 จอ ใช้ไมค์ลอยขนาดเล็กติดที่ตัวผู้พูด เช่นเดียวกันกับงานใหญ่อย่าง WWDC หรือ Google IO
ข้อดีคือทุกคนจะได้โฟกัสมาที่ผู้พูดและสไลด์อันเดียวกัน ห้องที่จัดแสงเป็นอย่างดีจะทำให้เวทีดูน่ามองขึ้น นอกจากนี้ยังมีการวางไมค์ที่พื้น เพื่อให้เสียงเฮหรือเสียงปรบมือจากผู้ชมดังขึ้นจนงานดูน่าสนใจอีกด้วย
การแต่งตัว มาร์คใส่เสื้อยืดแนบตัว กางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบอย่างที่เราคุ้นเคย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
ภาพจาก Facebook F8 Page |
เปิดงานด้วยเซอร์ไพรส์ !!
เฟสบุ๊คทำเซอร์ไพรส์คนในงานด้วยการให้แอนดี้ แซมเบิร์ก (Andy Samberg) นักแสดงตลกชาวอังกฤษจากรายการ Saturday Night Live มาแสดงเป็นมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กตัวปลอม และปล่อยมุขตลกอยู่นานกว่า 5 นาที ก่อนที่มาร์คตัวจริงจะออกมา เรียกเสียงฮาได้มากทีเดียว
จริงๆ แล้วการเชิญตัวปลอมมาพูดแทนนั้น สตีฟ จ็อบส์ก็เคยทำอยู่ครั้งหนึ่งด้วยการเชิญโนอาร์ เวล์ (Noah Wyle) ซึ่งแสดงเป็นจ็อบส์ในหนังเรื่อง The Pirate of Silicon Valley เพียงแต่โนอาร์ไม่ได้เล่นมุขนานเท่าแอนดี้ในครั้งนี้
แววตาที่มั่นใจ, ใช้ท่าทางประกอบ, พูดช้าลง
ข้อเสียอันดับแรกของมาร์คคือการพูดที่เร็วมาก (จนหลายคนบ่นว่าอ่านซับในเรื่อง The Social Network ไม่ทัน) ซึ่งจะเห็นว่ามาร์คในวันนี้พูดช้าลงอย่างเห็นได้ชัด พยายามใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย
นอกจากนี้ยังมีแววตาที่ดูมั่นใจ มีการใช้ท่าประกอบในการนำเสนอ จากเดิมที่มือคอยถือแต่ไมค์ (ข้อดีของการใช้ไมค์ลอยติดที่ตัว) รู้จักจังหวะที่ต้องเน้น และจังหวะที่ต้องผ่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลไปถึงการนำเสนอที่ดูน่าเชื่อถือและคนฟังคล้อยตามได้ง่ายขึ้นมาก
สไลด์ที่เข้าใจง่าย, รูปที่สื่อ, แอนิเมชันในระดับพอดี
สไลด์ของมาร์คในงานนี้ใช้โทนสีฟ้า-เขียว ซึ่งก็เป็นสีประจำบริษัทของเฟซบุ๊คอยู่แล้ว
รูปภาพที่ใช้เข้าใจง่ายขึ้นมาก ทั้งความสวยงาม รูปที่สื่อถึงสิ่งที่กำลังพูดได้เป็นอย่างดีภายในรูปเดียวจบ ตัวอย่างเช่นการพูดนำเข้าเรื่อง Open Graph มาร์คใช้รูปเพียง 3 รูปเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาที่เรามีสิ่งที่ทำมากมายรอบตัว ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง
ในหน้าจอที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก อย่างเช่นหน้า Profile ใหม่ที่เรียกว่า Timeline มาร์คใช้วิธีไฮไลท์ทีละจุด และส่วนอื่นๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นเงา วิธีนี้จะทำให้ผู้ฟังพุ่งความสนใจไปทีละจุด ไม่สับสน
กราฟที่เคยเป็นปัญหาเดิมก็หมดไป ด้วยการใช้กราฟที่เข้าใจง่ายขึ้น และยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการขยายส่วนที่สำคัญภายในกราฟให้เห็นชัดขึ้นมาอีก
ลูกเล่นแอนิเมชันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการนำเสนอยุคใหม่ ในช่วงการนำเสนอความสามารถใหม่อย่าง Timeline มาร์คอธิบายตั้งแต่หน้าบนสุด แล้วก็เล่นแอนิเมชันให้ Timeline วิ่งลงมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าล่างสุดซึ่งก็คือวันแรกที่เริ่มใช้เฟซบุ๊ค ซึ่งนอกจากจะดูน่าสนใจแล้ว ยังสื่อความหมายของความสามารถใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี
และยังมีหน้ากราฟฟิคสรุปอีกหนึ่งสไลด์ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า Timeline คืออะไร
นำเสนอความเป็นมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก
การยกตัวอย่างในพรีเซนต์เทชันโดยทั่วไปเรามักจะยกตัวอย่างจากเรื่องสมมุติ อย่างเช่นในพรีเซนต์ของแอปเปิล เราก็มักจะเห็นรูปหรือเรื่องราวที่ถ่ายทำใหม่ขึ้นมา
แต่ในการนำเสนอครั้งนี้ มาร์คเลือกที่จะนำเสนอเรื่องของตัวเอง อย่างช่วงเวลาที่สำคัญใน Timeline ก็เลือกจะโชว์รูปของเขากับแฟนสาว รูปที่ออฟฟิศ สุนัขที่เลี้ยง ซึ่งถือว่าแปลกใหม่กว่าการนำเสนอในระดับซีอีโอคนอื่นๆ
ไม่แน่ใจว่าทีมงานหรือตัวมาร์คเองที่เป็นคนตัดสินใจเลือกใช้เนื้อหานี้ แต่ก็เป็นการชี้ให้เห็นชัดว่า เฟซบุ๊คเริ่มโปรโมทมาร์คในฐานะผู้นำองค์กรสู่ภายนอกมากขึ้น เช่นเดียวกับสตีฟ จ็อบส์หรือบิลเกตส์
ไม่ใช้คลิกเกอร์ !!
คลิกเกอร์ (Clicker) คืออุปกรณ์ที่ไว้ควบคุมการเปลี่ยนสไลด์ไปหน้าต่างๆ ตามที่ผู้พูดต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการนำเสนองานในรูปแบบพรีเซนต์เทชัน และเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดในการพรีเซนต์ครั้งนี้คือมาร์คเป็นคนเดียวที่พูดตลอด 50 นาทีโดยไม่ใช้คลิกเกอร์เลย ในขณะที่แขกรับเชิญคนอื่นๆ ใช้คลิกเกอร์กันหมด
การพูดโดยไม่ใช้คลิกเกอร์ แปลว่าจะต้องมีผู้ช่วยคนหนึ่งคอยกดสไลด์หน้าต่อไปให้แทน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการซักซ้อมที่มากกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการเลื่อนสไลด์ผิดพลาดกับบทพูดมาก
มาร์คเองถึงจะทำการบ้านมาค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีหลายต่อหลายจังหวะที่ดูเหมือนจะต้องยืนนิ่งรอให้สไลด์เลื่อนไป หรือบางทีก็ต้องหันไปอ่านบทบนหน้าจอเล็กบ่อยครั้ง เพื่อให้รู้ว่าจะถึงจังหวะเปลี่ยนไลด์ ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดีนะ
พูดเปิดและปิดท้าย
การพูดเปิดและปิดท้ายงานของซีอีโอแต่ละคนจะมีรูปแบบที่ต่างกันไป อย่างถ้าเป็นบิลเกตส์ จะพยายามสรุปสิ่งที่พูดมาและโยงว่ามันเหมาะกับผู้ใช้ยังไง แต่ถ้าเป็นสตีฟ จ็อบส์ เรามักจะได้ฟังวิสัยทัศน์ การมองไปในอนาคต หรือคำคมต่างๆ
สำหรับประโยคที่มาร์คพูดปิดท้ายงาน F8 คือ
At Facebook, we exist at the intersection of technology and social issues.
it’s really an hornor to be here with all you guys. Because looking back 7 year, who thought that we will be here today.
It’s really a dream and I wake up every single day and I thankful for an opportunity to work on these problem for you guys.
So let’s take the next stop of the curve. Thank you.
ซึ่งก็ฟังดูดี คือทั้งพูดสิ่งที่เฟซบุ๊คกำลังทำอยู่ คือแก้ปัญหาโลกโซเชียลไลฟ์ที่เราพบกันอยู่ทุกวันนี้ รวมไปถึงขอบคุณทุกคนที่ทำให้มีวันนี้ และก็ให้วิสัยทัศน์ในอนาคตต่อไปข้างหน้า
มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก vs สตีฟ จ็อบส์
คงจะสรุปได้ยากถ้าหากไม่ได้เปรียบเทียบการนำเสนอของมาร์ค ซึ่งเป็นซีอีโอที่มาแรงที่สุดในยุคนี้ กับสตีฟ จ็อบส์ที่ขึ้นชื่อว่านำเสนองานได้น่าประทับใจที่สุดในปัจจุบัน
แน่นอนว่าในส่วนของการสร้างเสียงฮือฮา ลูกล่อลูกชนบนเวที และการควบคุมผู้ฟังได้อยู่หมัดนี่คงหาใครเทียบจ็อบส์ได้ยาก ซึ่งมาร์คเองก็ยังขาดในส่วนนั้นอยู่มาก อาจจะต้องใช้เวลาบนเวทีสะสมประสบการณ์ต่อไป
สไลด์ของจ็อบส์จะค่อนข้างเน้นความเรียบง่ายมากๆ (Minimal) ขนาดที่บางทีมีแค่รูปไอคอนเดียว แต่มาร์คจะเน้นไปที่รูปสวยและสื่อความหมายชัดเจน มีการใช้วิดีโอประกอบที่มากกว่าจ็อบส์พอสมควร
แต่โดยรวมแล้ว ในส่วนของรูปแบบการนำเสนอ การใช้ท่าทาง สไลด์ และที่สำคัญความมั่นใจบนเวที ก็ถือได้ว่ามาร์คทำได้ดีมากทีเดียว จนได้รับคำชมจากหลายฝ่าย ว่าไม่แน่เด็กหนุ่มคนนี้ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ อาจจะเป็น “สตีฟ จ็อบส์คนต่อไป” ก็เป็นได้
รูปจาก Hollywood Reporter |
สรุป
- การนำเสนอที่เคย “ห่วย” ก็สามารถเปลี่ยนให้กลายมาเป็น “ยอดเยี่ยม” ได้ถ้ามีการวางแผนที่ดี ยอมรับคำวิจารณ์ ปรับปรุงตัวเอง และซ้อมอย่างหนัก
- ภาพที่สื่อความหมาย ไม่กี่ภาพ ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้
- ใช้แอนิเมชันเมื่อจำเป็น และภาพเคลื่อนไหวนั้นควรสื่อได้ถึงสิ่งที่ต้องการบอกจริงๆ
- การไม่ใช้คลิกเกอร์มีความเสี่ยงสูง
- การซ้อมอย่างหนัก ช่วยลดความผิดพลาดไปได้เยอะ
- แค่มั่นใจ ก็ชนะไปแล้วกว่าครึ่ง
- จาก Suck ก็กลายเป็น SuckSeed ได้เหมือนกัน
Related Link