ถือเป็นความสูญเสียของชาวไทยทั้งชาติ กับการสวรรคตของในหลวง และก็เป็นสัปดาห์แห่งความยากลำบากในการทำงาน ไม่ใช่แค่กับผมเอง แต่รวมไปถึงชาวไทยทั้งชาติด้วย
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของการเปิดบริษัทของผมเองพอดี ต้องบอกตามตรงเลยว่า ถือเป็นสัปดาห์ที่ยากลำบาก ทั้งเรื่องของกาย และเรื่องของใจในการทำงานอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติก็มีโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการได้เรียนรู้เพื่อรับสถานะการณ์ต่างๆ ในมุมมองที่ต่างออกไป ผมพยายามพูดคุยกับเพื่อนๆ พี่น้อง ที่เปิดธุรกิจของตัวเองเช่นเดียวกัน ถึงการดูแล และการดำเนินงานภายใต้สภาวะเช่นนี้
———————————————————
มีหลายเรื่องอยากเล่าให้ฟัง แต่เขียนแบบสรุปจากที่ได้เห็นจากหลากหลายบริษัทกันดีกว่าครับ เมื่อเกิดภาวะไม่ปกติเช่นนี้ เหล่าเจ้าของบริษัทแต่ละรายมีวิธีดูแลธุรกิจอย่างไรกันบ้าง
1. ดูแลลูกค้าให้มากกว่าเดิม : ในช่วงเวลาแบบนี้ ภาคธุรกิจต่างก็จะหยุดเพื่อไว้อาลัย แต่ผมได้พบเห็นเพื่อนๆ ที่ดูแลบริษัทหนึ่งเรียกประชุมหัวหน้าทีมด่วน ไม่ใช่เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ แต่เป็นการประชุมเพื่อเตรียมเข้าไปดูแลลูกค้า
ไม่น่าเชื่อว่าในวันต่อมา ทีมขาย ทีม AE ต่างเดินทางเข้าไปพบกับลูกค้าแต่ละราย มาพร้อมกับแนวทางหรือการรับมือ เพื่อเสนอให้กับลูกค้าว่าควรทำอย่างไรในภาวะแบบนี้ ทั้งที่ลูกค้าไม่เคยร้องขออะไร ซึ่งได้ใจพวกเขามาก
2. ดูแลพนักงานให้มากกว่าเดิม : นอกจากลูกค้าแล้ว พนักงานในบริษัทก็เป็นส่วนสำคัญที่สุด บางคนก็ไม่มีจิตใจจะมาทำงาน บางคนก็อยากไปแสดงความอาลัย
บริษัทผมเองประกาศให้พนักงานหยุดได้ 1 วันเพื่อทำงานจากที่บ้าน, บริษัทคนรู้จักท่านหนึ่งประกาศให้ค่าซื้อเสื้อสีดำกับพนักงานคนละ 5,000 บาท, ร้านล้างรถที่รู้จักกันปิดร้านเพื่อให้พนักงานได้ไปที่สนามหลวง
3. วางแผนระยะสั้น, กลาง, ยาว เอาไว้ล่วงหน้า : เพื่อนผมท่านหนึ่งใช้เวลาทั้งวันเพื่อวางแผนการเตรียมตัวเอาไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เขียนบนกระดานไว้เลยว่า 7 วัน, 30 วัน, 6 เดือน จากนั้นลองเขียนช่วงเวลาและสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากเขียนเสร็จ พอกลับมามอง Timeline ทั้งหมดบนกระดาน เรามองเห็นภาพและสภาวะอารมณ์ของบ้านเมืองในช่วงต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วางแผนอนาคตของบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4. ทบทวนระบบการทำงานจากที่บ้าน : สมัยที่ผมทำงานอยู่บริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง เรามีระบบที่เรียกกันว่า BCP (Business Continuity Plan) ซึ่งเป็นแผนงานที่ระบุไว้ว่า บริษัทจะต้องทำงานต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม
BCP เคยถูกใช้ช่วงที่มีม็อบปิดกรุงเทพ รวมถึงมีเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้ BCP แล้ว ทุกคนก็สามารถทำงานจากที่บ้านได้ทันที รวมถึงมีออฟฟิศสำรองเวลาเกิดเหตุไม่คาดคิด แม้จะทำได้ไม่ 100% แต่ก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีเอามากๆ
5. พร้อมปรับนโยบายทุกเวลา อย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ : หลายบริษัทมามัวยึดติดกับโครงสร้างองค์กร ต้องเป็น CEO เรียกประชุมผู้บริหาร ผู้บริหารเรียกประชุมหัวหน้า หัวหน้าเรียกประชุมพนักงานปฏิบัติ ซึ่งกว่าจะไปถึงพนักงานทุกคนก็ช้าเกินไปแล้ว
การบริหารภายใต้ภาวะไม่ปกติที่ผมชอบมาก คือการได้พบเห็นบริษัทหนึ่งที่ CEO ส่งอีเมล์หาพนักงานทั้งบริษัทภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เกิดเหตุ เนื้อหาคือบอกสิ่งที่เกิด และแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น นโยบายระยะสั้นของบริษัท
ที่เจ๋งคือมีการระบุวันเวลาที่ CEO จะขอแถลงเป็นการภายในกับพนักงานนับหมื่นคนพร้อมๆ กัน ซึ่งก็มีทั้งแถลงผ่าน Internal Web, ผ่านทางสายโทรศัพท์ (เบอร์พิเศษให้โทรเข้ามาฟังได้), ผ่านทีวีภายในบริษัท คือถึงจะเป็นบริษัทใหญ่โต แต่ก็เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว น่าประทับใจ
Note : The Zero Blog เป็นบทความแนวจดบันทึก จากการเปิดบริษัทของผม เพื่อเล่าเรื่องราวและจดบันทึกรายสัปดาห์ เชื่อว่าหลายท่านอาจจะได้มุมมองที่ต่างออกไปบ้างไม่มากก็น้อย
อ่านเพิ่ม