คำถามที่ได้ยินบ่อยที่สุดในฐานะที่เป็นบล็อกเกอร์ หรือเวลาที่ไปเทรนเรื่องการเขียนบล็อกตามบริษัทต่างๆ ก็คือ “พี่คะ ถ้าหนูจะเริ่มเขียนบล็อก ควรจะสมัครเข้าไปเขียนที่ไหนดีคะ ?”
คือสมัยนี้การเขียนบล็อกมันง่ายมาก ไม่ต้องทำเว็บ ไม่ต้องมี Domain Name ไม่ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคอะไรเลย แค่ไปสมัครบริการบล็อกออนไลน์สักแห่ง ก็เขียนได้แล้ว
ทางเลือกตอนนี้ก็มีเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นของไทยเราอย่าง Storylog, Bloggang, Exteen หรือของต่างประเทศอย่าง WordPress, Blogger.com, Tumblr หรือแม้แต่เขียนบล็อกลง Facebook Page
วันนี้เลยจะขอมาสรุปข้อดีข้อเสียของแต่ละ Platform ในฐานะคนที่เขียนบล็อกมาตลอด 10 ปี และลองใช้มาหมดแล้วทุก Platform ว่าแบบไหนเหมาะกับใครกันแน่ มาดูกันเลยดีกว่า
1. Storylog : ง่ายโคตรง่าย เร็ว เบา เหมาะสำหรับมือใหม่
สำหรับช่องทางเขียนบล็อกที่มาแรงสุดในไทยตอนนี้ก็น่าจะหนีไม่พ้น Storylog ที่ทุกท่านกำลังอ่านกันอยู่นี่แหล่ะครับ ซึ่งด้วยโครงสร้างนี้เน้นการเขียนบล็อกแบบง่ายๆ เน้นการเล่าเรื่อง ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก ก็เหมาะกับคนที่จะเริ่มต้นเขียนบล็อกอะไรขึ้นมาใหม่ ใช้งานบนมือถือได้ ไม่น่าแปลกใจที่ดาราหรือเซเล็บหลายคนเริ่มมาใช้งานมากขึ้น เช่นปิง @Pingvachir ผู้กำกับฮอร์โมน แต่ก็ยังขาดเครื่องมืออีกหลายตัวสำหรับคนที่อยากเป็นบล็อกเกอร์มือโปร
ข้อดี : ง่าย ง๊าย ง่าย เว็บเบาหวิวแทบไม่มีการ Refresh หน้าใหม่เลย โหลดเร็ว ทีมงานคนไทย ใช้ไม่เป็นถามได้
ข้อเสีย : ยังขาดเครื่องมืออีกหลายตัว เช่นการวัด Stat ไม่รู้ว่าคนอ่านบล็อกเราแค่ไหน, ใส่โฆษณาไม่ได้, จัดหน้าได้ไม่เยอะนัก
เหมาะสำหรับ : มือใหม่ เริ่มต้น เน้นงานเขียน ไม่เน้นรูปเยอะ [3.5/5]
2. Bloggang : มีเพื่อแฟนพันธุ์แท้พันทิปโดยเฉพาะ
ถือเป็นช่องทางเขียนบล็อกรายแรกๆ ซึ่งเจ้าของ Bloggang ก็มาจากทาง Pantip นี่เอง ซึ่งถือเป็นช่องทางเขียนบล็อกที่ฮ็อตมากในสมัยก่อน คนเล่น Pantip ก็จะมีแอค Bloggang มาเขียนอะไรเล่นๆ สนุกๆ แต่เวลาผ่านไป ระบบก็ล้าสมัยตามเวลา ซึ่งข้อดีเพียงอย่างเดียวที่เห็นในตอนนี้ คือเขียนลงที่นี่แล้วมีโอกาสโปรโมทผ่าน Pantip มากขึ้นเท่านั้นเอง (แต่ได้ยินมาว่าเค้ากำลังจะปรับปรุงใหม่เร็วๆ นี้นะ)
ข้อดี : เขียนแล้วมีโอกาสได้โปรโมทลง Pantip มากขึ้น
ข้อเสีย : ระบบเก่ามาก, ใช้ยากมาก, ปรับแก้อะไรยาก, พื้นที่จำกัด
เหมาะสำหรับ : แฟนพันธุ์แท้พันทิป [1/5]
3. WordPress : ขวัญใจมือโปร
ถือเป็นเจ้าพ่อบล็อกและเว็บสมัยใหม่อย่างแท้จริงกับ WordPress ที่มองไปทางไหนก็เห็นคนใช้เต็มไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มมือโปรที่เช่าโฮสหรือจดโดเมนเป็นชื่อตัวเอง แต่ระบบหลังบ้านก็จะเป็น WordPress กันซะเยอะ ด้วยความที่ระบบครบทุกเรื่องที่บล็อกควรจะมี รวมถึงต่อยอดไปทำเป็นเว็บใหญ่ๆ ก็ยังได้ (MacThai ของผมก็ WordPress นะ) แถมมี Theme ให้เลือกโคตรเยอะ ใครอยากจริงจังกับการเขียนบล็อกก็ขอแนะนำเลยแหล่ะ
ข้อดี : เครื่องมือครบทุกอย่าง, เลือกได้ว่าจะเปิดใช้ฟรี หรือจดโดเมน, ต่อยอดทำเป็นเว็บของตัวเองได้, สวย, มีการพัฒนาต่อเนื่อง
ข้อเสีย : บางทีก็ดูเยอะเกินไป เข้าไปแล้วงงๆ มือใหม่อาจจะไม่ถนัด
เหมาะสำหรับ : คนที่เขียนบล็อกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หรือบล็อกเกอร์มือโปร [5/5]
4. Blogger.com : SEO ดีขั้นเทพ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสร้างขึ้นมาเพื่อการเขียนบล็อก สมัยก่อนใช้ชื่อ BlogSpot แต่ต่อมาก็ถูก Google เข้าซื้อกิจการ ซึ่งช่วงแรกก็ดีมาก แต่หลังๆ กูเกิลเริ่มปล่อยลงทะเล แทบไม่มีอัพเดทอะไรออกใหม่ ส่วนตัวผมใช้ที่ Blogger อยู่นี่แหล่ะ (Khajohi.com) เหตุผลคือเร็ว แรง และเป็นระบบที่มันแอบโกง SEO ให้เราหน่อยๆ คงเพราะเจ้าของเป็นกูเกิลด้วยมั้ง เวลาเสิร์ชกูเกิลจะเจอบล็อกเราง่ายขึ้นมากถ้าใช้ Blogger.com
ข้อดี : มี SEO ขั้นเทพ, ระบบไม่ซับซ้อนจนเกินไป, มีระบบฝากรูปที่ดีงาม
ข้อเสีย : ระบบเริ่มไม่มีอะไรใหม่, จัดหน้าจอยาก, ต้อง Geek ระดับนึงถึงจะใช้คล่อง
เหมาะสำหรับ : มือโปรที่ Geek ระดับนึง [4/5]
5. Facebook Page : อยู่ในโลกของ FB กันไป
แนวทางเขียนบล็อกที่ช่วงหลังมาแรงสุดโดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ คือการใช้ Facebook นี่แหล่ะเขียนบล็อกมันซะเลย ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้ง FB ส่วนตัว เขียนเป็น Notes หรือเปิดเพจใหม่ก็เขียนกันบนนั้นได้ ข้อดีคือง่ายแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย ใช้ FB เป็นก็จบ แต่ปัญหาคือมันก็จะอยู่แค่ในโลก FB นะ เสิร์ชกูเกิลไม่เจอบล็อกเรานะ
ข้อดี : ง่ายแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย, มีโอกาสได้ Reach ใน FB มากขึ้น
ข้อเสีย : เครื่องมือยังไม่เยอะ, ไม่มีสถิติ, เสิร์ช Google ไม่เจอบล็อกของเรา
เหมาะสำหรับ : มือใหม่ที่อยากลองเขียนอะไรสนุกๆ ไม่คิดอะไรมาก [3/5]
6. Medium : จิ๋วแต่แจ๋ว มาแรงด้วยความเรียบง่าย
มีหลายท่านอยากให้ลองวิจารณ์ Medium ซึ่งกำลังมาแรงในตอนนี้เพิ่มอีกเว็บหนึ่ง ก็จัดไปครับ สำหรับ Medium อันที่จริงมีความคล้ายกับ Storylog หรือ Tumblr ค่อนข้างมาก คือเน้นความง่าย เร็ว ขีดๆ เขียนๆ โดยผู้ก่อตั้งคือ Evan Williams ซึ่งเป็นผู้สร้าง Twitter มาแล้วนั่นเอง ทำให้ Medium เน้นการเขียนเรื่องราว ที่ไม่ต้องปรับแต่งอะไรมาก และระบบก็ถือว่าดีเอามากๆ จนเป็นขวัญในนักเขียนหลายคนในต่างประเทศ
แต่ถึงอย่างนั้นด้วยความที่ระบบอยู่ตรงกลางระหว่าง Twitter กับ Blogger (ตามชื่อ Medium) ทำให้นักเขียนหลายคนเลือกไม่ถูกว่าจะใช้เพื่อต่อยอดเป็นบล็อกเกอร์แบบเต็มตัว หรือใช้เขียนเรื่องราวสั้นๆ ไม่เน้นการปรับแต่งดี เลยเป็นระบบที่ดูจะเหมาะกับกลุ่ม “นักเขียน” มากกว่า “บล็อกเกอร์”
ข้อดี : ระบบดีมาก ใหม่ ใช้ง่าย เน้นการเล่าเรื่องที่ไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากนัก โหลดเร็ว มีกลุ่มนักเขียนที่หลากหลายใช้งานอยู่แล้ว ระบบ Community ดีมาก
ข้อเสีย : การสร้างเป็นบล็อกแบบเต็มตัวได้ไม่ดีนัก ระบบอยู่ตรงกลางระหว่างการเขียนเรื่องสั้นกับบล็อกแบบ Full Scale
เหมาะสำหรับ : มือใหม่และมือโปร ที่อยากเขียนเรื่องราวที่ไม่ได้ยาวและเยอะมากนัก
อื่นๆ
– Exteen : ขวัญใจวัยรุ่น ใช้ง่าย ปรับแต่งได้ไม่เยอะ มีสังคมคนใช้พอสมควร แต่ระบบเริ่มเก่าและล่มบ้างเป็นบางครั้ง
– Tumblr : เน้นบล็อกสั้นๆ ง่ายๆ เขียนบนมือถือก็ยังได้ แต่ในไทยคนไม่ค่อยนิยม ถ้าเขียนบล็อกเป็นเรื่องเป็นราวอาจจะไม่ใช่แนวมากนัก
– MSN Space, Multiply, Hi5 เจ๊งไปหมดแล้ว
:: สรุป ::
จริงๆ แล้วการเขียนบล็อกสมัยนี้ มีเครื่องมือช่วยเยอะมาก แต่การเลือกเว็บที่เราจะไปฝากบล็อกไว้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ให้คิดไว้เลยว่าถ้าเลือกที่ไหนแล้ว ก็จะต้องอยู่กับที่นั้นไปอีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะงั้นก็เลือกให้ดีก่อนจะดีกว่า
ข่าวดีคือทุกระบบที่ว่ามา ใช้เวลาสมัครไม่ถึง 1 นาทีเสร็จ นั่นหมายความว่าเราสามารถสมัครแม่มทุกบริการแล้วลองใช้ให้ครบก่อนก็ได้ จะได้เลือกถูกว่าจะใช้บริการที่ไหนดีกว่ากัน แนวทางไหนเหมาะกับบล็อกของเรา
สรุปแบบฟันธงเลยคือมือใหม่หัดเขียน ไปที่ Storylog, Medium, Facebook แต่ถ้าอยากได้ทุกอย่างครบ จบในที่เดียวแนะนำ WordPress หรือถ้าเน้น SEO ก็ไป Blogger.com ส่วนรายอื่นๆ ก็แล้วแต่จะพิจารณาเลยจ้า