ทำงานอยู่ออฟฟิศดึก ไม่ได้แปลว่า “ขยัน” เสมอไป ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของเจ้านายไทย

เคยไหมครับเวลาที่เราเห็นใครซักคนทำงานอยู่ออฟฟิศจนดึกดื่น ในขณะที่ทุกคนกลับบ้านไปกันหมดแล้ว แต่เขายังตั้งหน้าตั้งตาทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างแข็งขัน พร้อมกับเสียงเรียกประโยคคุ้นหูที่ว่า “ขยันจังเลยนะ”, “ฟิตจังนะแก”, “โอ้โห พนักงานดีเด่น”

ทำงานดึก = ขยัน

ผมเคยมีความเชื่อนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนจบ และก็ฝังหัวมาตลอดชีวิตการทำงาน

จนบางครั้งเราเองก็ตั้งใจที่จะทำงานอยู่ดึก เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขยัน หรือแม้แต่บางครั้งก็เพื่อให้เจ้านายรู้สึกว่าเราเต็มที่กับงาน ประเมินผลออกมาจะได้คะแนนดีๆ เงินเดือนจะได้ขึ้นเยอะๆ

พอทำงานมาซักระยะนึงจนเริ่มเป็นหัวหน้าทีม ก็ได้พบกับคนที่เป็นระดับหัวหน้าหลายคนเหมือนกัน ที่มีความเชื่อว่า ถ้าลูกน้องคนไหนทำงานแล้วกลับช้า กลับดึก จะให้คะแนนความขยันเกือบเต็มไปเลย

ตรงข้ามกับคนที่พอถึงเวลา 5 โมงเย็นปุ๊บ เก็บกระเป๋าออกจากออฟฟิศเลย คนกลุ่มนี้บางทีไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงาน แต่รวมถึงหัวหน้าก็มองว่าเป็นคน “ขี้เกียจ” หรือ “ทำงานแบบคุ้มเวลา” ให้ทำถึงกี่โมงก็ทำแค่นั้น ไม่มีทำงานเพิ่ม เป็นคน “ไม่ขยัน”

คุณค่าความขยันของฝรั่ง ไม่เหมือนคนไทย

แต่ความเชื่อนี้ก็ต้องมาสั่นคลอน เมื่อครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสไปทำงานที่อังกฤษ แม้จะเป็นช่วงเวลา 40 กว่าวัน แต่ก็ได้พบเห็นวิธีการทำงาน การใช้ชีวิตที่แตกต่างจากการทำงานแบบไทยๆ อย่างสิ้นเชิง

ช่วงวันแรกที่ได้ไปทำงานที่อังกฤษ ผมก็ยังคงพกพาการทำงานแบบที่คุ้นเคยจากเมืองไทย ทำงานชิวๆ ทั้งวัน พอถึงช่วงเย็นก็ลงไปหาอะไรกินเล่น กะจะขึ้นมาทำงานจนถึงสองสามทุ่มแล้วค่อยกลับที่พัก

ปรากฏว่าช่วงทุ่มนึง ตอนที่เดินกลับขึ้นมาถึงออฟฟิศ ผมพบว่าไม่มีใครอยู่เลย !! ผมเดินวนไปวนมา ไม่เจอนายขยันที่ทำงานจนดึกดื่น หน้าจอมีไฟส่องออกมาเลยซักคน

ซักพักก็มีรปภ.เดินเข้ามาถามว่า “ทำไมคุณถึงยังไม่กลับบ้าน ?”

ผมก็ตอบกลับไปว่ายังทำงานไม่เสร็จ เดี๋ยวจะทำงานต่อจนถึงทุ่มสองทุ่ม ซึ่งทำให้คุณพี่รปภ.ถึงกับตกใจ รีบบอกเลยว่าถ้าคุณจะอยู่ดึก ต้องเซ็นเอกสารเพิ่มนะ ต้องทำอะไรอีกหลายอย่างวุ่นวายมาก

ด้วยความมึนงง ผมก็ได้แต่เก็บของแล้วเดินออกมา กลับที่พักไปนั่งทำงานที่ห้องต่อแทน

เช้าวันต่อมา เจ้านายที่เป็นฝรั่ง ชื่อแนชเข้ามาคุยกับผม “เอ็ม ผมได้ยินว่าเมื่อวานนี้คุณอยู่ที่ออฟฟิศช่วงดึก ?”
“อ๋อ ใช่ครับ ผมว่าจะทำงานต่อ มีหลายอย่างที่ยังไม่เสร็จดี” ผมตอบ

“ผมไม่เข้าใจ ทำไมคุณไม่ทำงานให้เสร็จในเวลา ทำไมต้องมาทำจนดึก ผมให้งานคุณหนักเกินไปเหรอ ?”
“……..”
“ผมสอนคุณไปอย่างละเอียดแล้ว มีตรงไหนที่ยังสงสัยหรือทำไมได้อีกหรือเปล่า ?” แนชถามด้วยความห่วงใย

ผมเลยถือโอกาสเล่าให้แนชฟังว่า ปกติที่เมืองไทยเราจะทำงานกันเลิกทุ่มสองทุ่ม ส่วนคนที่ขยันหน่อยก็อาจจะอยู่สามสี่ทุ่มไปเลย ซึ่งแนชได้ฟังแล้วก็ถึงกับส่ายหัว

“ในฐานะบริษัทผมดีใจที่เห็นคุณทำงานหนัก ตั้งใจทำงานเพื่อบริษัท แต่คุณต้องรู้จักการ Balance เวลาในชีวิต คุณจะทำงานตลอดเวลาไม่ได้ ต้องมีเวลาให้ครอบครัวหรือทำอย่างอื่นด้วย”

แนชยังบอกต่ออีกว่า “การใช้เวลาทำงานนานๆ มันไม่ได้หมายความว่าผลงานคุณจะดีกว่าคนอื่นหรอกนะ ผมไม่เข้าใจว่าที่เมืองไทยเค้าไม่ได้ประเมินความสามารถจากผลงานเหรอ ?”

โดนเข้าชุดนี้ผมถึงกับจุก ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของผมเอง รวมถึงความเชื่อผิดๆ ที่มีมาตลอด จนเกิดเป็นความเคยชินก็ได้

ฝรั่งที่ออฟฟิศ หลังเลิกงาน มีการไปซ้อมดนตรีกันด้วย ใช้เวลาคุ้มกันจริงๆ

ซึ่งสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ตลอดช่วงที่ทำงานที่อังกฤษคือ

  • คนที่อังกฤษมีสมาธิในการทำงานสูงมาก ผมแทบไม่เห็นใครที่เล่น Facebook, ฟัง YouTube หรือนั่งเม๊ากันระหว่างทำงานเลย
  • เวลาทำงานคือ 8.30 และเลิกงานที่ 17.00 ซึ่งทุกคนมากันตรงเวลา และก็เลิกตรงเวลา
  • หลัง 17.00 ก็เริ่มเห็นคนทยอยเก็บกระเป๋าออกจากออฟฟิศ พอถึงช่วง 17.30 แทบไม่มีใครอยู่ออฟฟิศแล้ว พอหลัง 18.00 คือไม่มีใครที่ออฟฟิศเลยจริงๆ
  • แต่ผลงานของทุกคนคือออกมาดีเยี่ยม ทุกอย่างทำได้เสร็จสิ้นตามเวลาที่คุยกันไว้ ไม่มีเลท คุณภาพออกมาดี
  • เวลาประชุม ทุกคนจะมาตรงเวลามาก เริ่มประชุม 14.00 หมายถึงเริ่มประชุมจริงๆ ไม่ใช่ 14.00 ยังเพิ่งลุกออกจากที่นั่ง
  • และก็เลิกประชุมตรงเวลาเป๊ะ ประชุม 1 ชั่วโมง ทุกคนก็จะพยายามให้จบในเวลาจริงๆ ไม่มีมาต่ออีก 15 นาที หรือโยกไปประชุมรอบหน้า
บรรยากาศซ้อมหนีไฟที่อังกฤษ
  • พนักงานแต่ละคนบริหารเวลาของตัวเองดีมาก มีครั้งหนึ่งที่มีการซ้อมหนีไฟ ซึ่งพอถึงเวลากริ่งดัง ทุกคนก็เดินลงทางหนีไฟ ไปจุดที่ซักซ้อมกันไว้ พอกริ่งหยุดดังปุ๊บ ก็กลับขึ้นมานั่งทำงานต่อทันที ไม่มีไปเดินชิว ซื้อ Starbucks กิน
  • แนชเล่าให้ผมฟังว่า คนอังกฤษแต่ละคนเวลามาทำงาน ก็จะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าเลิกงานแล้วจะทำอะไร เช่นทุกวันพุธจะไปออกกำลังกาย ทุกวันศุกร์จะไป Hangout กับเพื่อนๆ หรือไปเยี่ยมคนในครอบครัว
  • เวลาหลังเลิกงาน” เป็นเวลาที่มีความหมาย ถ้าใช้ให้ดีก็จะมีประโยชน์กับตัวเอง
  • ผมเริ่มเปลี่ยนวิธีการทำงานตามแบบของคนที่นี่ดูบ้าง ใช้เวลาทำงานจริงจัง พยายามทำทุกอย่างให้เสร็จในเวลาทำงาน ไม่คิดว่าเดี๋ยวจะเอาไว้ทำรอบดึกหรือเอากลับไปทำที่บ้าน
  • ซึ่งช่วงแรกก็ไม่ค่อยชินนะ แต่พอนานไปก็เริ่มทำงานได้เสร็จตามเวลามากขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่า เฮ้ย ถ้าเอาจริงๆ เราก็ทำทุกอย่างเสร็จได้ทันนี่หว่า แล้วจะกลับดึกไปทำไมฟะ
  • ผมเริ่มมีเวลาหลังเลิกงานมากขึ้น ได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ออกกำลังกาย พักผ่อน อ่านหนังสือ ไม่ต้องคิดแต่เรื่องงานตลอดเวลา
พอกลับมาที่เมืองไทย ผมพยายามใช้เวลาทำงานเต็มที่ เลิกตรงเวลา จนมีเวลามากพอที่จะเรียนต่อป.โทได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย
ซึ่งก็โชคดีที่หัวหน้าและบริษัทที่เมืองไทย ก็มีระบบการประเมินที่ดี ดูผลงานเป็นหลัก และก็ได้การประเมินผลงานออกมาดีทุกปี
HR ท่านหนึ่งเคยบอกว่า 70% ของคนที่ลาออกจากบริษัท เกิดจาก “หัวหน้า” และเหตุผลใหญ่คือการประเมินผลงานลูกน้องในแต่ละปี
ถ้าคุณกำลังเป็นลูกน้องในบริษัทอยู่ ลองตั้งใจทำงาน ใช้เวลาให้คุ้มค่าตรงเวลา และทำทุกอย่างให้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผมเชื่อว่าคุณจะเก็บกระเป๋าลุกตอนเลิกงานทันที ก็ไม่น่ามีใครว่าอะไรคุณได้
ส่วนเจ้านายหรือหัวหน้า ถ้าคุณเริ่มมองคุณภาพของลูกน้องจากผลงานและคุณเป็นหลัก ลดเรื่องอารมณ์ ความสนิท หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานออกไปได้ ในการประเมินความสามารถของลูกน้อง คุณก็น่าจะทำได้ดี และทุกฝ่ายก็จะ Happy ร่วมงานกันได้อย่างมีความสุขครับ