“เห็นแล้วคุณจะต้องอึ้ง”, “และนี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น”, “และนี่จะเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอด”
เป็นตัวอย่างพาดหัวข่าวเนื้อหาที่เรียกกันว่า Clickbait หรือล่อให้คลิ๊ก ซึ่งกำลังเป็นกระแสดังอยู่ในตอนนี้ เพราะเว็บที่ทำเนื้อหาลักษณะนี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด พร้อมกับสถิติคนเข้าอลังการ อย่างเช่น Ohozaa ที่เคยแซงหน้า Sanook ขึ้นไปด้วยซ้ำ (แต่สุดท้ายก็ปิดตัวไปซะแล้ว)
โดยส่วนตัวก็ไม่สนับสนุนแนวทางนี้เท่าไหร่ เพียงแต่เมื่อเราเป็นคนในวงการเว็บ ก็อยากจะขอพิสูจน์ดูว่าการทำเนื้อหาและหัวข้อข่าวแนวนี้ มันได้ผลอย่างไรบ้าง
(อ่านข่าวที่ใช้ในการทดสอบ : ภาพที่แม่ถ่ายด้วย iPhone นี้ กลับช่วยชีวิตลูกชาย 2 ขวบของเธอได้ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น)
การทดสอบทำเนื้อหา Clickbait และจับทุกการเคลื่อนไหว
หาข่าวที่เหมาะสม
- เนื้อข่าว : คุณแม่ถ่ายภาพลูกน้อยด้วยกล้อง iPhone พบตาข้างหนึ่งสีผิดปกติ เธอจึงพาลูกไปหาหมอและพบว่านั่นคือมะเร็ง เลยรีบผ่าตัดและเด็กก็รอดตาย โชคดีที่แม่สังหรณ์ใจเสียก่อน
- ประเด็น : แม่-ลูก, ภาพหัวข่าวแปลกตา, มีดราม่า
รูปต้นข่าวเป็นแนวตั้ง เลย Crop แล้วใส่ที่ว่างซ้ายขวา ให้ลง FB ได้พอดีๆ |
ปรับเปลี่ยน แปลงร่างให้เป็นเนื้อหาแบบ Clickbait
- ตั้งหัวข่าว : ภาพที่แม่ถ่ายด้วย iPhone นี้ กลับช่วยชีวิตลูกชาย 2 ขวบของเธอได้ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
- Crop รูปใหม่ ให้เห็นหน้าเด็ก ตาสองสี และใช้ภาพที่แม่ถ่ายจริง
- เน้นการแชร์ผ่าน Social Media เตรียมเนื้อหา ทดสอบดูว่าถ้าวางบน Facebook แล้วจะได้ภาพที่พอดี หัวข่าวที่ไม่ยาวจนหลุด มีข้อความ Description ที่ชวนกด
- เขียนเรื่องราวให้มีความดราม่า ในลักษณะการเล่าเรื่อง
เครื่องมือและช่องทางการทดสอบ
- แชร์ผ่านเว็บ MacThai ซึ่งคนตามใน Social Media บน Facebook 100k, Twitter (รวมทีมงาน) 250k, Google+ 20k
- ตรวจสอบผ่าน Google Analytics แบบ Realtime
- เก็บสถิติด้วย Jetpack บน WordPress
- ใช้ Social Monitoring Tools อีกนิดหน่อย
- หลังโพสต์เสร็จ รีบประกาศผ่านช่องทางส่วนตัวว่านี่เป็นการทดสอบนะจ๊ะ เผื่อมีดราม่าตามมาทีหลัง 5555
เมื่อโพสต์ไปแล้ว !! ผลที่ได้ ทำให้อึ้ง
ผมเลือกโพสต์ในช่วงเวลา 16.00 ซึ่งถือเป็นช่วง Primetime สำหรับการโพสต์ให้คนแชร์ต่อโดยเน้นเป้าหมายถือ Facebook เป็นหลัก โดยหลังจากกดโพสต์ไปปุ๊บ ก็รีบไปโพสต์ดักไว้ที่ FB และ TW ส่วนตัวว่านี่คือการทดสอบนะจ๊ะ (แต่ไม่ได้แจ้งในเนื้อข่าว เพราะต้องการให้ผลมันสะท้อนความจริง)
ซึ่งหลังจากที่โพสต์ข่าวที่มั่นใจว่า Clickbait 100% (ฮาาา) และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นครัช
- นาทีที่ 1 ผมทดสอบจากการโพสต์ลง Twitter ก่อน คนเข้าพุ่งมาทันทีที่ 179 Active user (ดูที่ Top Active Page ด้านขวา) ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจาก Twitter นั่นแหล่ะ
- Note: ค่าโดยปกติโดยเฉลี่ยของข่าวใน MacThai คือหลังโพสต์จะมีคนเข้ามาอ่าน 100 – 200 คนในช่วงเวลาเดียวกัน
- ผ่านไป 2 นาที คนเข้าเพิ่มขึ้นมาจาก 179 เป็น 378 Active user
- ผ่านไป 5 นาที เริ่มโพสต์แชร์ลง Facebook บ้าง คนเข้าพุ่งจาก 378 เป็น 767 Active user
- ผ่านไป 10 นาที คนเริ่มแชร์กระจายใน Facebook คนเข้าพุ่งจาก 767 เป็น 884 Active user โดยค่าจาก Twitter เริ่มลดลง ตามปกติที่ Timeline ไหลไปเร็วกว่า FB
- คนเริ่มมาเม้นด่า ว่าต่อไปอย่าตั้งหัวข่าวแบบนี้นะ, ไม่ชอบให้โพสหัวข้อแบบนี้เลย, เดี๋ยวนี้ MacThai พาดหัวแบบนี้แล้วเหรอ แย่ว่ะ
- เริ่มมียอดคน Unfollow และ Unlike Page แต่เป็นจำนวนที่ไม่เยอะมาก
- คำด่าเริ่มลามเข้ามาที่ Social ต่างๆ และส่งมาบอกผมโดยตรง ซึ่งผมก็ตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า “ทดสอบจ้าาาา”
- แต่ยอดแชร์ก็ยังพุ่งไปต่อเนื่อง ภายใน 1 ชั่วโมง โพสต์ใน Facebook ได้ Reach ไปแล้ว 80k ยอดคนแชร์ 120+
- ผ่านไป 1 วัน ท่ามกลางเสียงบ่นด่า แต่ยอดคนเข้าก็อยู่ที่ 32,000 คน, แชร์ 180+, Like 3,000+
- ผมก็ไม่คิดอะไร เลิกเก็บสถิติแล้วก็เตรียมเข้านอน …
- เช้าวันต่อมา ปรากฏว่ายอดแชร์กลับยังไม่ลดละ โดยเฉพาะบน Facebook มีคนแชร์ต่อเยอะขึ้นมาก จาก 180+ แชร์ ขึ้นมาที่ 315 แชร์ โดยสืบทราบมาว่ากลายเป็น viral ในหมู่แม่ๆ ตามเพจเลี้ยงลูกต่างๆ
- ยอดคนด่าก็เพิ่มเข้ามา แต่ไม่ได้เข้ามาที่เพจ MacThai โดยตรง เพราะมีคนแชร์ไปช่องทางอื่นๆ ไม่ได้ Refer มาจากเพจโดยตรง
- น่าสนใจที่บน Twitter กลับไม่มีคนแชร์มากเท่าไหร่ อาจจะเพราะเนื้อหาตรงกับกลุ่มผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง ที่กดแชร์แบบไม่ยั้งบน Facebook
- สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือยอดคนเข้าวันที่ 2 กลับมากกว่าวันที่ 1 คืออยู่ที่ 36k view มากกว่าวันแรกที่ 32k
- ยอดคน Unlike เพจไม่เยอะเท่าวันแรก แต่เสียงด่าลอยๆ ผ่านใน Social เยอะพอสมควร
สรุปผล
- ยอดคนเข้าอ่านเนื้อหา 90,000+ view
- Facebook 9,003 likes และ 1,364 shares
- Reach 223,040
- Twitter มากกว่า 2,000 Retweet (รวมทุก Account)
- คน Unfollow 50+, คนกด Unlike Page 70+
- ยอดคนด่า ประมาณว่ามากกว่า 80+ เม้น
จากผลการทดสอบ พบว่าการทำเนื้อหาแบบหลอกให้คลิ๊ก สร้างคนเข้ามาอ่านได้มากกว่าค่าเฉลี่ยโดยปกติถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะถูกแชร์ต่อเป็น Viral มากกว่าโพสต์โดยปกติ ซึ่งถ้านับเฉพาะด้านนี้ก็จะเห็นว่าทำไมเว็บพวกนี้ถึงมีคนเข้าเยอะจัง
แต่ด้านที่ลบ คือมีการถูกด่า, เว็บมีคนจำชื่อไปว่ามันชอบทำเนื้อหา Clickbait, มีคนกด Unlike และ Unfollow พอสมควร ซึ่งสำหรับเพจที่ปั้นมากับมือก็รู้สึกได้เลยว่า ค่อนข้างเจ็บ และรู้สึกไม่ดีที่ทำให้คนที่ติดตามกันมานาน บอกลากับข่าวเพียงข่าวเดียว
โดยสรุปคือเว็บที่เน้นหัวข่าวแบบชวนให้คลิ๊กนั้น เรียกคนอ่านได้มากจริง แต่ก็แลกมาด้วยภาพลักษณ์ที่แย่ตามไปด้วย ซึ่งถ้าคุณทำเว็บแบบไม่ได้แคร์ใคร อยู่ของฉันคนเดียวก็อาจจะโอเค แต่ในระยะยาวก็ไม่น่าจะคุ้มเสี่ยง เพราะเราคงไม่ได้ทำเว็บแล้วเลิกแค่ไม่กี่ปี
ซึ่งผลสุดท้าย เว็บอาจจะมีชื่อเสียงแย่ๆ จนทำเอาคุณต้องอึ้ง ก็เป็นได้