รีวิว: หนังสือ Steve Jobs by Walter Isaacson

สตีฟ จ็อบส์ เป็นมนุษย์ลึกลับ ในระดับที่เข้าใจได้ยาก นอกจากจะเป็นซีอีโอที่ดังที่สุดในยุคสมัยนี้แล้ว เราก็แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับจ็อบส์อีกเลย สิ่งที่หนังสือหลายสิบเล่มอธิบายเกี่ยวกับประวัติของเขา ความคิดของเขา ล้วนแล้วแต่เอามาจากการสัมภาษณ์บุคคลอื่นๆ เพราะนอกจากงาน WWDC, Macworld, Time, Newsweek, AllThingD และ สุนทรพจน์ที่ Stanford แล้ว เราก็ไม่เคยได้เห็นจ็อบส์ในสื่ออื่นอีกเลย

จ็อบส์เป็นคนเก็บตัวขนาดไหน ก็สะท้อนมาที่บริษัทของเขา คือแอปเปิลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งการเก็บความลับมาโดยตลอด แต่แล้วอยู่ดีๆ ก็มีหนังสือที่กลายเป็นเหมือนมรดกสุดท้ายที่จ็อบส์ฝากเอาไว้ก่อนตาย หนังสือเล่มเดียวที่เราจะได้ฟังทุกเรื่องในชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ จากปากของเขาเอง

ที่มาของหนังสือ

ผู้ชายที่ไม่เคยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวมาตลอด 56 ปีที่มีชีวิต อยู่ดีๆ จะมาทำหนังสือของตัวเองเล่มแรก (และเล่มเดียว) ทำไม ?

หนึ่งเลยคือจ็อบส์รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย และสองคือเค้าอยากบันทึกความเป็นตัวตนของเขาให้กับลูกๆ ได้รับรู้ ว่าจริงๆ แล้วพ่อของเขาเป็นคนยังไง แบบเดียวกับที่ศาสตราจารย์แรนดี เพาช์เจ้าของหนังสือ The Last Lecture ทำไว้ (ซึ่งบังเอิญว่าทั้งสองคนตายด้วยโรคเดียวกัน)

จ็อบส์ติดต่อกับ Walter Isaacson เพื่อให้มาเขียนหนังสือชีวประวัติของตัวเขาเองมานานหลายปี ซึ่ง Isaacson ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด จนวันนึงที่จ็อบส์ล้มป่วยลง และภรรยาของเขาก็บอกว่า “ถ้าคุณยังอยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเขาแล้วล่ะก็ คุณควรจะรีบทำได้แล้ว”

[Spoil]
หนังสือเล่มนี้จะบอกอะไรบ้าง ?

  • จ็อบส์เองก็ใจกว้างพอที่จะเปิดเผยทุกเรื่องแบบหมดเปลือกจริงๆ รวมทั้งไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตหนังสือเล่มนี้ ไม่แม้แต่จะขออ่านรีวิวก่อนตีพิมพ์ด้วยซ้ำ ซึ่งแปลกประหลาดมากสำหรับคนที่ใส่ใจในรายละเอียดขนาดนี้
  • Issacson เก่งมากในการสัมภาษณ์บุคคล และกล่อมให้เขายอมพูดความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ เช่นการที่ Johny Ive ยอมบอกว่าเขารู้สึกแย่ที่จ็อบส์ขโมยเครดิตหลายอย่างไปเป็นของตัวเอง
  • นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้สิทธิ์พิเศษในการขอเข้าสัมภาษณ์ตัวละครสำคัญ เช่น
    • คนสำคัญอย่าง บิลเกตส์, Paul Otellini ซีอีโออินเทล, Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล
    • คนในครอบครัว, Chrisann Brennan อดีตภรรยา, Lisa ลูกสาวนอกสมรสคนแรก หรือแม้แต่ Jandali พ่อที่แท้จริงของจ็อบส์
    • ทีมงานในบริษัทแอปเปิล ไล่ตั้งแต่ Tim Cook, Johny Ive ไปจนถึงอดีตพนักงานหลายคน
    • และตัวสตีฟ จ็อบส์เอง แม้ในยามที่ป่วยใกล้ตาย
  • ในบางช่วง หนังสือก็ฉลาดพอที่จะไม่เรียบเรียงคำพูดของจ็อบส์ แต่กลับถอดเทปนำสิ่งที่จ็อบส์พูดออกมาทั้งดุ้นเลย
  • มันไม่ใช่หนังสือประวัติของบุคคล แต่ยังรวบรวมเหตุการณ์ ที่มาที่ไป ความขัดแย้ง เบื้องลึกเบื้องหลังของ iPhone, iPod, iPad, Pixar ฯลฯ
  • จากที่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับสตีฟ จ็อบส์แทบทุกเล่มที่มี ผมเคยคิดว่าตัวเองรู้จักจ็อบส์เป็นอย่างดีแล้ว แต่หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็พบว่า ที่เคยคิดว่ารู้ มันแค่ 30% เท่านั้น

บริหารงานแบบสตีฟ จ็อบส์

  • ถ้าคุณเคยเห็นรูปผังองค์กรของแอปเปิลที่มีคนแซวว่าแอปเปิลบริหารงานแบบมีจ็อบส์อยู่ตรงกลางคนเดียวทั้งบริษัท .. นั่นไม่ใช่เรื่องล้อเลียน แต่เป็นความจริง
  • จ็อบส์เข้าไปดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในบริษัท ไล่ตั้งแต่ออกไอเดียในสินค้า การขนส่ง กล่องใส่สินค้า พนักงานขาย ไปจนถึงวัสดุที่ทำประตูใน Apple Store
  • จะมี CEO คนไหนที่ออกแบบบันไดในร้านขายของตัวเอง
  • คุณไม่สามารถบริหารงานแบบจ็อบส์ได้ ที่จ็อบส์ทำได้เพราะเขาเป็นอัจฉริยะ (ต้องใช้คำนี้จริงๆ) และ 90% ของสิ่งที่เขาตัดสินใจมักจะถูก
  • ความสามารถพิเศษจริงๆ ของจ็อบส์คือการพูด ที่กล่อมคนให้เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อได้ จนบางดีลก็แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น
    • กล่อม 5 ค่ายเพลงใหญ่ให้มาขายเพลงที่ iTunes Store ได้
    • ปลุกใจทีมงานให้ยอมทิ้งโปรเจ็คไอโฟนที่ทำมาเกือบปีลง แล้วเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศุนย์อีกครั้ง
    • โน้มน้าวจนบอร์ดบริหารจนยอมสร้างร้าน Apple Store ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเจ๊งหรือเปล่า

ตัวตนของสตีฟ จ็อบส์

  • จ็อบส์เป็นคนพื้นเพไม่ดีเท่าไหร่ ต้องอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมแต่เด็ก 
  • เป็นคนปากเสียมาก ด่าเจ็บ ไม่ยอมใคร ขี้งก กวนตีน แค้นฝังใจเจ็บ ขี้โมโห เอาแต่ใจ ทั้งเล่มจะได้เจอแต่ Fuck กับ Shit
  • แต่ก็เป็นคนที่เอาความรักเข้ามาโยงกับงานอย่างมาก ใส่ใจในทุกรายละเอียด ลึกจนถึงขั้นบินไปเลือกไม้ที่จะมาทำโต๊ะในร้าน Apple Store ด้วยตัวเอง
  • เคยทำผิดมามากมาย ถึงจะไม่ยอมรับสิ่งที่ผิดในช่วงแรก แต่ก็มักจะกลับมานั่งคิดแล้วก็ยอมรับว่าตัวเองผิดในภายหลัง
  • รักครอบครัวมาก หวงความเป็นส่วนตัวของภรรยาและลูกๆ จนไม่น่าเชื่อ
  • รักความเรียบง่าย เชื่อในศาสตร์แห่งเซน ถึงขนาดสั่งลื้อเครื่องบินส่วนตัวเพื่อให้ปุ่มเปิดปิดประตู มีแค่ปุ่มเดียว ไม่ใช่สองปุ่ม
  • อินกับสิ่งทีทำมาก ถึงกับร้องไห้ออกมาตอนที่รู้ว่า iMac เครื่องแรกมีถาดใส่ CD (ซึ่งเขาไม่อยากให้มี), ร้องไห้กับโฆษณา Think Different, ร้องไห้กับชีวิตในอดีตของตัวเอง

สรุป

Steve Jobs by Walter Isaacson เป็นหนังสือที่ควรอ่าน ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบไอที (แมค, ไอโฟน, ไอแพด), ดนตรี (ไอพอด, ไอทูน), ภาพยนตร์ (พิกซาร์) หรือไม่ก็ตามที สิ่งที่คุณจะได้มากกว่านั้นคือความทุ่มเททั้งตัวและใจให้กับงาน ความเชื่ออย่างสุดใจในสิ่งที่ทำ ธุรกิจ ความขัดแย้ง ความฉลาดสุดล้ำ และความโง่อย่างไม่น่าเชื่อของชายคนที่เหมาะกับคำว่า Visionary มากที่สุดในยุคนี้ .. สตีฟ จ็อบส์

:: รวม Note ที่จดไว้ระหว่างอ่านหนังสือ Steve Jobs ::


กำเนิดไอโฟน – จากหนังสือ Steve Jobs

โพสต์ครั้งแรกที่ Google+
จากหนังสือบทที่ 36 – the iPhone

เลือกอ่านบทนี้ก่อนเลยเพราะผมอ่านอดีตของจ๊อบส์มาจนเอียนแล้ว แต่อยากรู้เบื้องหลังสินค้าที่ทำให้แอปเปิลรวยที่สุดในโลกได้ (ก่อนมีไอโฟนนี่แอปเปิลเงินน้อยนะ)

  • ปี 2005 iPod ขายดีโคตร แต่จ็อบส์เริ่มกลัวเพราะรายได้ 45% มาจาก iPod + iTunes เขามองไว้แล้วว่าวันนึงโทรศัพท์ทุกเครื่องจะมาแทน iPod
  • ไปร่วมมือทำมือถือกับ Motorola สุดท้ายได้รุ่น RAZR ออกมา และห่วยระเบิด เพราะแอปเปิลไม่ได้ทำ HW เอง ทำแค่ iTunes .. “I’m sick of dealing with these stupid companies like Motorola”
  • คืนหนึ่ง วิศวกรของไมโครซอฟท์ฉลองวันเกิดครบ 50 ปี พอดีสนิทกับภรรยาของจ็อบส์ ก็เลยชวนจ็อบส์และบิลเกตส์ก็มางานด้วย ปรากฏเฮียแกโชว์ Microsoft Tablet PC มากไปหน่อยจนจ็อบส์รำคาญ เช้าวันต่อมาเลยไปที่ออฟฟิศและบอกทีมงานว่า “เราจะทำแท็บเล็ต !!”
  • ในตอนนั้น (2005) แอปเปิลเลยมีโครงการลับ 2 อัน 1. iPhone ที่ใช้ Click Wheel กับ 2. Tablet ที่ใช้จอ Multi-Touch
  • ทีมงานพบว่าการเอา Click Wheel มาใช้กับโทรศัพท์นี่เป็นไอเดียที่แย่มาก โดยเฉพาะตอนจะโทรออกแบบกดทีละเบอร์ 
  • Jony Ive มองออกว่า Multi-Touch เป็นทางออก เลยค่อยๆ ทำอุปกรณ์ตัวอย่างจนเกือบเสร็จแล้วไปโชว์ให้จ็อบส์ดู มันดูดีมากจนจ็อบส์บอกว่า “This is the future”
  • จ็อบส์สั่งหยุดโครงการแท็บเล็ตไปก่อน แล้วเดินหน้าไอโฟนเต็มร้อย
  • แต่โครงการ iPhone Click Wheel ก็ยังคงทำต่อไป ตอนนี้เลยทำสองไอโฟนคู่กันคือ Click Wheel กับ Multi-Touch (codename P1 และ P2)
  • แอปเปิลไปแอบซื้อบริษัท FingerWorks เงียบๆ เพราะบริษัทนี้แหล่ะที่มีสิทธิบัตร Multi-Touch อยู่ (และก็ใช้ฟ้องชาวบ้านอยู่ตอนนี้)
  • 6 เดือนผ่านไป ทุกคนลงความเห็นว่า Click Wheel ไม่เวิร์ค ตอนนี้เลยเหลือแค่ไอโฟน Multi-Touch ที่เดินหน้าเต็มสูบ
  • ปัญหาหลักคือจ็อบส์เกลียดพลาสติก และอยากได้จอที่เป็นกระจก เพราะทำให้รู้สึกดีกว่า (สมัยนั้นจอโทรศัพท์หรือแม้แต่ iPod เป็นพลาสติกหมด)
  • จ็อบส์ใช้เส้นสายจนไปได้บริษัท Corning Glass ใน NY หาวิธีทำกระจกแบบพิเศษให้จนสำเร็จ เรียกกันว่า “Gorilla Glass”
  • ปี 2006 ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีจนเกือบเสร็จ กว่า 9 เดือนของโครงการนี้ แต่เช้าวันนึงจ็อบส์ก็เดินมาบอก Ive ว่า เขานอนไม่หลับเมื่อคืนนี้ เพราะในที่สุดก็รู้สึกได้ว่ามันยังไม่ใช่ดีไซน์ที่ถูกต้อง และต้องการยกเลิกสิ่งที่ทำมา 9 เดือนและเริ่มใหม่หมด
  • ดีไซน์แรกของไอโฟน คือมีเคสเป็นอะลูมิเนียมแต่มีขนาดใหญ่คลุมมาถึงหน้าเครื่อง และจอมีขนาดเล็กเกินไป (หนังสือไม่ได้มีรูปให้ดู)
  • จ็อบส์โชว์เทพปลุกใจทีมงานทุกคนว่า “We’re all going to work nights and weekend”, “It was one of my prodest moment at Apple”
  • จ็อบส์เข้าไปดูทุกอย่าง และเป็นคนตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างการใช้ sensor เปิดปิดเครื่องเวลาเอาแนบหู, แบตที่เปลี่ยนไม่ได้, กดลากเพื่อเปิดล็อก (Swipe to Open)
  • ในที่สุดไอโฟนก็ได้เปิดตัวในงาน Macworld ปี 2007 จ็อบส์เชิญทีมงานทุกคนที่เคยทำ Macintosh เมื่อปี 1984 มาด้วย รวมทั้ง Steve Wozniak
  • ปัจจุบันไอโฟนเป็นมือถือที่ขายดีที่สุดในโลก ทำกำไรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์ทุกยี่ฮ้อรวมกัน

ดราม่า A Bug’s Life vs Antz

โพสต์ครั้งแรกที่ Google+
จากหนังสือ Steve Jobs บทที่ 33 Pixar’s Friend

เมื่อปี 1994 ผมจำได้ว่าหลังจากที่การ์ตูนเรื่อง Toy Story เข้าฉาย ตอนนั้นก็ตื่นเต้นกับการได้ดูการ์ตูนแอนิเมชันจากคอมพิวเตอร์มาก และเฝ้ารอดูเรื่องต่อมา ซึ่งต่อมาไม่นานก็มีหนังการ์ตูนเข้าพร้อมๆ กันถึง 2 เรื่อง คือ Antz และ A Bug’s Life

ความรู้สึกแปลกใจตะหงิดๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ทำไมอยู่ดีๆ ถึงมีการ์ตูนที่ทำจากคอมพิวเตอร์เข้าพร้อมกัน แถมเนื้อเรื่องคล้ายกันคือเกี่ยวกับมดและแมลงได้ล่ะหว่า แต่ก็ช่างเถอะ ดูมันทั้ง 2 เรื่องเลยละกัน

13 ปีต่อมา หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ Steve Jobs by Walter Isaacson ก็ได้ถึงบางอ้อว่า จริงๆ แล้วมันมีความดราม่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่เบื้องหลัง จนไม่น่าเชื่อว่าอะไรมันจะซับซ้อนขนาดนี้(วะ)เนี่ย

  • John Lasseter หลังจากที่สร้าง Toy Story เสร็จแล้ว ก็มีไอเดียที่เขาคิดอยากจะสร้างมานาน คือการ์ตูนที่เกี่ยวกับมดและแมลง เพราะมันไม่เคยมีใครสร้างมาก่อน
  • ในช่วงเวลาเดียวกัน Jeffrey Katzenberg โปรดิวเซอร์ชื่อดังของดิสนีย์ (Disney) แต่มีปัญหากับผู้บริหาร จนสุดท้ายโดนขับไล่ออกมาในปี 1994
  • Katzenberg แค้นดิสนีย์มาก จนต้องมาจับมือกับ Steven Spielberg สร้างค่ายหนังดรีมเวิร์คส์ (Dream Works) และหนังเรื่องแรกของค่ายคือการ์ตูน The Prince of Egypt เพื่อกลับมาล้างแค้นดิสนีย์เจ้าพ่อการ์ตูนในเวลานั้น
  • Lasseter มีความสนิทสนมกับ Katzenberg อยู่พอสมควร วันหนึ่งทั้งคู่ได้มาพบกัน และก็ถามไถ่โครงการที่กำลังสร้างกันอยู่ ซึ่ง Lasseter ก็เล่าไอเดียเกี่ยวกับ A Bug’s Life ออกไปแบบไม่ได้คิดอะไร
  • 2 ปีต่อมา Lasseter แอบได้ยินข่าวลือที่ว่าดรีมเวิร์คส์กำลังซุ่มทำแอนิเมชันจากคอมพิวเตอร์ โดยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับมดและแมลง
  • Lasseter โกรธมาก โทรไปด่า Katzenberg จนเสียหมา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เรื่องมาถึงหูสตีฟ จ็อบส์ซึ่งแน่นอนตามไล่ด่าพ่อ Katzenberg อยู่นาน จนในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่าต้นเหตุของเรื่องนี้ มีที่มาจากตัวละครที่ชื่อดิสนีย์
  • คือเมื่อดิสนีย์ได้ยินว่าดรีมเวิร์คส์จะทำการ์ตูน Prince of Egypt ออกมาเพื่อล้างแค้นตน จึงออกอุบายเด็ด โดยการจัดให้การ์ตูน A Bug’s Life ของ Pixar ไปกำหนดฉายชนกัน เข้าโรงวันเดียวกันซะเลย เพื่อไม่ให้ดรีมเวิร์คส์ได้ผุดได้เกิด (ซึ่งตามปกติแล้วหนังประเภทการ์ตูนจะเลี่ยงไม่เข้าโรงพร้อมกัน)
  • พอเป็นอย่างนี้ ก็เลยทำให้ Katzenberg ต้องหันมาสร้าง Antz ขึ้นมาตัดขา Pixar และดิสนีย์อีกรอบ ด้วยการทำการ์ตูนที่เนื้อเรื่องคล้ายกัน สร้างจากคอมพิวเตอร์เหมือนกัน แต่ออกมาฉายก่อน A Bug’s Life เพียงแค่ 1 เดือน
  • Katzenberg ให้เงื่อนไขกับสตีฟจ็อบส์ว่า เขาสามารถหยุดโครงการ Antz ได้ ถ้าจ็อบส์ยอมไปสั่งให้ดิสนีย์เลื่อนวันฉาย A Bug’s Life ออกไปไม่ให้ชนโรงกับ Prince of Egypt (คือเอาหนังมาเป็นเครื่องมือต่อรองกันนี่เอง)
  • แน่นอนว่าคนอย่างจ็อบส์เหรอจะยอมกับเรื่องแบบนี้ สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครยอมใคร หนังทั้ง 3 เรื่องเลยเข้าโรงชนกันสะบั้นหั่นแหลก
  • ใครชนะ ? สมัยนั้นออสการ์ยังไม่มีรางวัลสำหรับการ์ตูนแอนิเมชัน ก็คงต้องตัดสินกันที่รายได้แทน
    • Antz : $171.8 ล้านเหรียญ
    • Prince of Egypt : $218.6 ล้านเหรียญ
    • A Bug’s Life : $363.3 ล้านเหรียญ

ดราม่าเอย จงซับซ้อนขึ้นไปอีก …

Related Link