การเตรียมตัวสำหรับงานหมั้น, บรรยากาศ 1 วันก่อนงาน

หลังจากที่เราได้ข้อสรุปที่ว่าจะจัดงานแต่งงานที่กรุงเทพฯ และจัดงานหมั้นที่ขอนแก่นแล้ว (อ่าน: 20 คำถามกับวันแต่งงาน) โดยงานจะจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายหญิงที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เมื่อเราสอบถามไปทางพ่อแม่ของเราทั้งสองคนว่าจะจัดงานอย่างไร มีอะไรที่ต้องทำบ้าง ?

“พวกเราไปเตรียมงานแต่งที่กรุงเทพฯเถอะ งานหมั้นนี่เดี๋ยวให้ผู้ใหญ่จัดการเอง ไม่มีอะไรมากอยู่แล้วล่ะ หมั้นง่ายๆ

หมั้นง่ายๆ … เป็นประโยคที่ผมได้ยินแทบทุกครั้งที่สอบถามกลับไปถึงการเตรียมงานที่ขอนแก่น และระหว่างทางนั่งรถกลับบ้านประโยคนี้ก็ดังก้องหูไปตลอดทาง …

หมั้นง่ายๆ

สิ่งที่ผมจินตนาการไว้คืองานหมั้นเล็กๆ ของ 2 ครอบครัว มีญาติๆ มานั่งคุยกัน เฮฮาเป็นกันเอง มีการพูดคุยพอเป็นพิธีที่บ้านฝ่ายหญิง ทำกับข้าวกินกันตอนเที่ยง แล้วก็บ๊ายบายแยกย้ายกลับบ้านกันไปอย่างมีความสุข

“เอ็ม !! ขอรูปชุดแต่งงานที่ไปถ่ายกันมาด่วนเลย” ท่านแม่ของเจ้าสาว
“เอ่อ … เอาไปทำอะไรเหรอครับ ?”
“ก็เอาไปติดในงานน่ะสิ เร็วเลยนะรีบเอาไปอัดใส่กรอบมาเลย เดี๋ยวจะได้เอาไปวางข้างเวที เนี่ยก็กำลังจัดซุ้มกันอยู่ กางเต๊นท์แล้วด้วย”

ด้วยความมึนงง อะไรคือซุ้ม อะไรคือเต๊นท์ เวทีคืออะไร ?? ผมจึงขอไปดูสถานที่เกิดเหตุก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที .. แล้วทันทีที่มาถึงบ้านเจ้าสาว ผมกับว่าที่เจ้าสาวก็ถึงกับยืนอ้าปากค้างกับภาพที่เห็นตรงหน้า !!

บ้านหลังเล็กๆ กลายเป็นสถานที่จัดงานระดับอำเภอ มีซุ้มเข้างาน ตกแต่งดอกไม้ พื้นปูพรมแดงเป็นทางยาว ลานจอดรถถูกแปลงร่างกลายเป็นเวทียกสูง มีเครื่องเสียงกำลังติดตั้งอยู่ ลานหน้าบ้านมีเต็นท์ขนาดใหญ่กางอยู่ 10 กว่าผืนได้ …

หลังจากสอบถามดูแล้วได้ความว่างานในวันพรุ่งนี้จะมีการงานเลี้ยงโต๊ะจีน 35 โต๊ะ มีแขกมาร่วมฉลองประมาณ 400 คน มีเวทีให้ขึ้นไปกล่าวขอบคุณแขก และประธานในพิธีคือท่านนายอำเภอ !!

หมั้นง่ายๆ

มีซุ้มทางเดินเข้าบ้านพร้อมปูพรมแดงด้วย
มีเวที !! โอ้แม่เจ้า งานหมั้นเหรอเนี่ย
รูปหน้างานที่ท่านแม่ขอ
ว่าที่เจ้าสาวเห็นความอลังการของหมั้นง่ายๆ แล้วปวดเฮ๊ด

พิธีหมั้นและพิธีแต่งงาน

โดยปกติแล้วงานแต่งงานจะประกอบไปด้วย 2 อย่าง คืองานพิธีตามประเพณีและงานเลี้ยงฉลอง

  • งานพิธี : แห่ขันหมาก, สวมแหวน, ยกน้ำชา, ส่งตัวเจ้าสาว, เข้าโบสถ์ โดยมากมักจะจัดตอนเช้า ที่บ้านฝ่ายหญิงและมีการดูฤกษ์ดีฤกษ์มงคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
  • งานเลี้ยงฉลอง : ถ่ายรูปคู่กับบ่าวสาว, เปิดพรีเซนเทชั่น, ตัดเค้ก, โยนดอกไม้, ถ่ายรูปตามโต๊ะ โดยมากจะจัดที่โรงแรมช่วงกลางคืน ไม่มีพิธีอะไรมาก

งานในวันพรุ่งนี้จะเป็นงานหมั้นและงานแต่งงานไปในตัว ส่วนงานเลี้ยงฉลองจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งข้อมูลแบบละเอียดว่าต้องมีอะไรบ้าง ขบวนขันหมากเป็นอย่างไร พิธีก่อนหลังเริ่มยังไง ก็คงหาได้ตามเว็บทั่วไปครับ ก็อยากขอแนะนำการเตรียมตัวในมุมเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่ถือว่าเป็นคนสำคัญของงาน

หาวัน, เวลา, สถานที่

  • ส่วนมากก็จะไปหาหมอดูหรือพระซึ่งที่บ้านนับถือ พยายามถามวันเผื่อไว้ซัก 2-3 วัน เผื่อว่าใครมีธุระอะไรจะได้จัดวันที่เหมาะสมได้ถูก
  • เวลาส่วนมากจะได้ฤกษ์ช่วง 7-9 โมงเช้า แต่บางคนก็ได้ฤกษ์โหดมากคือตี 5 ก็จะเหนื่อยทั้งแขกและคนจัดเอา ลองพยายามถามวิธีแก้หรือเวลาอื่นๆ
  • ความเชื่อของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ควรคุยเรื่องฤกษ์ที่โอเคทั้งสองบ้านจะดีกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลือกเอง
  • สถานที่มักจะจัดที่บ้านเจ้าสาวเพื่อความเป็นกันเอง แต่หากสถานที่คับแคบก็นิยมไปจัดที่โรงแรม เช่าห้องจัดงานเล็กๆ ห้องนึงก็ทำได้ และสะดวกดี
  • บางโรงแรมก็ขายแพ็คเกจห้องแต่งงานพร้อมงานหมั้นครับ อ่านเพิ่มได้ที่ -> แพ็คเกจและราคาสำหรับจัดงานแต่งงานในกทม.
  • อย่าคิดว่าจัดงานที่บ้านจะสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย จากที่พิสูจน์มาแล้วค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมาก และจัดที่โรงแรมยังสะดวกสบายกว่าทั้งที่จอดรถ, ทีมงาน, ตกแต่ง
จัดงานหมั้นในโรงแรม
อย่าลืมรถเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ต้องแต่งด้วยนะจ๊ะ
ห้องหอที่ใช้ส่งตัว ก็ควรจัดให้สวยรับแขก

พูดคุยเรื่องสินสอด

  • ตามประเพณีสินสอดคือเงิน, ทอง, เพชร หรือของมีค่าอื่นๆ ที่ฝ่ายชายจะมอบให้ฝ่ายหญิง
  • เรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน (มาก) หลายบ้านหลายคู่ทะเลาะกันเพราะเรื่องสินสอด
  • เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรเปิดใจคุยกันเองก่อนว่าจะเริ่มไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ยังไง จากนั้นให้แต่ละฝ่ายไปคุยกับบ้านตัวเอง ฝ่ายหญิงควรถามพ่อแม่ด้วยตัวเองว่าต้องการสินสอดเท่าไหร่
  • การคุยเรื่องสินสอดฝ่ายหญิงควรคุยกันเองในบ้านให้จบ สรุปได้ความว่ายังไงค่อยมาบอกฝ่ายชาย แต่ละครอบครัวมีมาตรฐานเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ไม่ควรเอามาเปรียบเทียบ
  • ถ้าคิดไม่ออกว่าสินสอดควรเป็นเท่าไหร่ มีนักวิชาการทำสูตรคำนวณไว้ให้ -> มูลค่า “สินสอด” ในงานแต่งควรเป็นเท่าไหร่ดี?
    • ซึ่งถ้าตามสูตรนั้น หากคู่บ่าวสาวมีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน อายุ 30 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ จบป.ตรี แต่งงานเป็นคนแรกของบ้าน สินสอดควรจะมีมูลค่า ~700,000 บาท
    • จะบ้าเหรอ !! (คิดในใจ)
  • ตามปกติชนชั้นกลางทั่วไป สินสอดจะมี 2 อย่าง
    • สินสอดโชว์หน้างาน : จัดเต็ม มีเท่าไหร่เอามาโชว์ให้หมด ส่วนมากจะเอาเลขสวย เช่นเงินสด 999,999 บาท
    • สินสอดที่ให้กันจริงๆ : ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงตกลงกันเอง ส่วนมากก็เป็นเงินสดที่มอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง, ช่วยค่างานหมั้น, เงินสดมอบให้ฝ่ายหญิงรับขวัญ

สินสอด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรพูดคุยด้วยความระวัง

การเชิญแขกมางาน

  • งานหมั้นส่วนมากก็จะเชิญแค่ญาติและเพื่อนสนิท ส่วนแขกทั่วไปจะเชิญมาในงานเลี้ยงฉลองตอนกลางคืนแทน
  • ขาดไม่ได้คือเฒ่าแก่ ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย 1 คู่ ฝ่ายหญิง 1 คู่
  • ควรเลือกเฒ่าแก่ที่มีประสบการณ์ เพราะจะต้องเป็นประธาน เป็นคนเริ่มพูดในการสู่ขอ เป็นคนเริ่มให้พรบ่าวสาว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรู้ขั้นตอนของงานพิธีเป็นอย่างดี
  • ถ้าจะให้ดีคู่บ่าวสาวควรจะไปเชิญเฒ่าแก่ด้วยตัวเองพร้อมกับพ่อแม่ จะได้พูดคุยขั้นตอนต่างๆ ด้วย
  • การ์ดเชิญงานหมั้นอาจจะไม่จำเป็นถ้าเชิญแขกไม่เยอะมาก แต่ต้องมั่นใจว่าแขกมาถูกวันเวลา และรู้จักสถานที่ดี

การจัดขันหมากหมั้น

  • เป็นเรื่องปราบเซียน เพราะไม่มีใครจำได้หรอกว่าต้องมีอะไรบ้าง มีทั้งแบบไทย แบบจีน แบบผสม
  • ส่วนมากก็จะเปิดเว็บ, อ่านจากหนังสือ หรือให้ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เป็นคนบอกว่าต้องจัดอะไรบ้าง แต่ผู้ใหญ่แต่ละท่านก็มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ควรตกลงกันให้ดี
  • ทำให้เกิดธุรกิจ Organizer จัดงานขึ้นมา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น แนะนำว่าหากเป็นงานใหญ่ แขกเยอะ และที่บ้านไม่รู้พิธี ควรจะจ้างไปเลย จะได้ไม่ต้องการปวดหัว
    • กรุณานึกภาพความวุ่นวายตอน 6 โมงเช้า ทั้งบ้านวิ่งวุ่น ฝ่ายชายมาตั้งขบวนแล้ว พระอยู่ไหน ? มีใครไปเชิญรึยัง ? ใครไปรับหน้าฝ่ายชาย ? จัดขบวนแบบไหน ? ตากล้องยังไม่มาทำไงดี ? บัวลอยยังไม่มี น้ำชายังไม่ต้ม ใครจัดการให้ที ?
  • เตรียมซองแดงเยอะๆๆๆๆ ต้องใช้หลายขั้นตอน ทั้งช่วงกั้นประตูเงินประตูทอง, ยกน้ำชา ฯลฯ
  • เตรียมที่เก็บสินสอดให้ดี ถ้ามีตู้เซฟก็ควรนำมาใช้ ข่าวสินสอดถูกขโมยมีให้เห็นบ่อยๆ
  • ถ้าอีก 1 วันจะถึงงานแล้ว แต่มีของที่ขาดหรือทำไม่ทัน ถ้าไม่จำเป็นก็ควรข้ามไปเลย ของบางอย่างไม่มีก็ไม่ได้หมายความว่าจะแต่งงานกันไม่ได้ซะหน่อย
กล้วยยยย
นี่แค่ส่วนหนึ่งสำหรับของที่ใช้ในขบวนขันหมาก
การเตรียมตัวของคู่บ่าวสาว
  • 3-4 เดือนก่อนงาน – ควรเริ่มพิมพ์การ์ด, ติดต่อเรื่องอาหาร, นิมนต์พระ, เชิญเฒ่าแก่, ตกลงเรื่องสินสอด, จองชุดงานหมั้น, ดูแหวนหมั้นและสั่งทำล่วงหน้า
  • 1 เดือน – แจกการ์ด, เตรียมเรื่องความหล่อความสวย, 
  • 2 อาทิตย์ – โทรคอนเฟิร์มแขก, เชิญเฒ่าแก่, พูดคุยซักซ้อมงานพิธี, ซื้อของที่ต้องใช้พิธีทั้งหมด
  • 1 อาทิตย์ – จัดสถานที่, ถ้าลางานได้ควรลา, เช็คของให้ครบ, ยืมชุดงานหมั้นจากร้าน
  • 1 วัน – ทำใจให้สงบ
  • แหวนหมั้นส่วนใหญ่ใช้เวลาทำพร้อมพิมพ์ชื่อในแหวนประมาณ 1 เดือน
  • แต่กว่าจะหาแหวนแบบที่ถูกใจได้ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-2 เดือนเข้าไปแล้ว -_-“
  • ควรหาผู้ช่วยที่ไม่ใช่พ่อแม่อย่างน้อย 2 คน ที่รู้ทุกอย่างในงานตั้งแต่ต้นจนจบ ของเก็บที่ไหน อะไรเริ่มก่อนหลัง เพราะถึงเวลาจริงคู่บ่าวสาว+พ่อแม่ จะขยับไปไหนไม่ได้เลย
ชุดงานหมั้น มีให้เลือกจนตาลาย
จัดงานรายละเอียดเยอะ ลืมอะไรก็ลืมได้ .. แต่อย่าลืมกันและกัน ฮิ๊วววว
จะเห็นว่าขั้นตอนการเตรียมงานนั้นมีเรื่องจุกจิกมากมายจนไม่น่าเชื่อ ทุกคู่ที่ผมเคยคุยด้วยก่อนจะจัดงานก็จะพูดเหมือนกันหมดว่า ไม่อยากมีพิธีอะไรมาก เอาง่ายๆๆๆ
แต่สุดท้ายคำว่าง่ายๆ ก็มักจะลงเอยด้วยความยากๆ ต้องอย่าลืมว่างานแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของสองครอบครัว หน้าตาของพ่อแม่พี่น้อง ฯลฯ เพราะฉะนั้นการศึกษารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ก็ไม่เสียหาย เพื่อถึงเวลาแล้วเราจะสามารถรับมือกับการจัดงานทั้งแบบง่ายๆ และยากๆ ได้

สุดท้าย คือสิ่งที่คู่บ่าวสาวส่วนใหญ่ลืมไป คืองานทั้งหมดนี้จัดขึ้นเพื่อความรักของคุณทั้งสองคน อย่าให้ความยุ่งยากของงาน รายละเอียดจำนวนมหาศาล เรื่องติดขัดทั้งหลาย มาทำให้ความรักต้องลดน้อยลงไป ผมเชื่อว่าความรักของคนสองคนที่ตัดสินใจร่วมชีวิตกัน มีค่ามากกว่าเรื่องเหล่านี้เยอะเลยครับ 🙂

Related Link