รีวิว: TinEye – Image Search Engine

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีในการค้นหารูปภาพได้พัฒนาไปมาก แต่หลายต่อหลายครั้งเราก็ยังไม่ได้รูปภาพที่เราต้องการอยู่ดี ด้วยการค้นหาแบบดั้งเดิมคือหาจาก keyword, tag หรือรายละเอียดอื่นๆ

TinEye เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีค้นหารูปภาพบนอินเตอร์เน็ตของบริษัท Idée ในแคนนาดา โดยการค้นหารูปจะไม่ได้ใช้ keyword แต่จะทำในทางกลับกันคือค้นหารูปภาพจากรูปภาพอีกทีหนึ่ง โดยเราสามารถจะอัพโหลดรูปภาพของเราขึ้นไป หรือใส่เพียง url ของรูปนั้นๆ จากนั้น TinEye จะทำการค้นหาเว็บที่มีรูปเหมือน หรือมีการแก้ไขเช่น ย่อ/ขยาย เปลี่ยนสี ตัดขอบ ทำขาวดำ เพิ่มลดแสง หรือแม้แต่รูปที่นำไป retouch อื่นๆ ได้

อธิบายคงไม่เห็นภาพเท่าดูรูปประกอบ

รูปสตีฟ จ็อบส์ : ผมเริ่มทดสอบจากการลองใส่ url รูปของสตีฟ จ็อบส์แล้วกดค้นหาดู ผลที่ได้คือรูปในเว็บต่างๆ ที่มีรูปเหมือนกับที่ผมต้องการหา มีทั้งรูปที่ย่อ ขยาย ตัดขอบ หรือแม้แต่เปลี่ยนสีเป็นขาวดำ !!

กล่อง Photoshop : จาก นั้นลอง ทดสอบด้วยรูปของกล่อง Photoshop ซึ่งผลที่ได้น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะได้รูปกล่องเหมือนๆ กันแล้ว ยังได้ภาพหน้ากล่องแบบไม่มีขอบ หรือรูปกล่องสินค้าที่คล้ายๆกันออกมาด้วย
– ใช้ตรวจหาของลอกเลียนแบบได้ในระดับนึง

รูป gif animation : ชักเริ่มสนุก เลยเริ่มทดสอบอะไรยากขึ้นด้วยภาพ .gif ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า ภาพ .gif สามารถทำเป็น animation โดยนำภาพหลายๆ ภาพมาต่อกันเป็นหลายเฟรม โดยทีแรกคิดว่าผลการค้นหา น่าจะได้แค่รูปแรกให้เฟรม แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะได้ผลออกมาเป็นรูปที่ทุกเฟรมเหมือนกับต้นฉบับเลย แต่อาจจะมีการลดขนาดหรือรายละเอียดของรูปลงมา
– แสดงว่ามีการทำ index ของภาพ .gif ทุกเฟรม


แบนเนอร์ เว็บประชาไท : ลองทดสอบกับภาพที่มีการนำไปต่อเพิ่มเติมบ้าง อย่างแบนเนอร์เว็บประชาไทใน Blognone ผลที่ได้คือรูปโลโก้ของเว็บประชาไทในเว็บอื่นๆ
– แสดงว่าเราสามารถนำรูปที่มาการแก้ไข ไปค้นหารูปต้นฉบับก็ได้เหมือนกัน

รูปถ่ายจากกล้องมือถือ : คราว นี้ ผมทดสอบด้วยวิธีที่ยากสุดๆ โดยลองหยิบกล้องมือถือ (ไอโฟน) ขึ้นมาถ่ายปกซีดี ซึ่งถ้าดูรูปจริงๆ แล้ว ทั้งแสงน้อย ความละเอียดต่ำและเบลอมาก ก่อนทดสอบก็คิดในใจแล้วว่า ยังไงก็หาไม่เจอหรอก แต่ผิดคาดคือนอกจากจะหาภาพเจอแล้ว บางภาพยังเป็นหน้าปกที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างวีซีดีคาราโอเกะ
– ใช้ภาพถ่ายจากกล้องคุณภาพต่ำมาค้นหาได้

ตุ๊กตาแมวการ์ฟิลด์ : ขั้น สุดท้าย ทดสอบความยากระดับเทพ ลองเอากล้องมือถือถ่ายตุ๊กตาของตัวการ์ตูนดู อยากจะรู้ว่าระบบจะหาได้รึเปล่าว่านี่คือตัวการ์ตูนอะไร ซึ่งผลที่ได้ก็ตามคาดคือหาไม่เจอ (55)

ข้อดี :

  • ค้นหารูปที่เหมือน หรือมีการตัดต่อ ย่อ/ขยาย เพิ่ม/ลด ความสว่าง retouch ได้
  • สามารถเปรียบเทียบรูปต้นฉบับกับรูปที่โปรแกรมค้นหาว่ามีความเหมือนหรือต่างกันตรงไหน
  • มี index ของรูปในฐานข้อมูลค่อนข้างเยอะ (ล่าสุดอยู่ที่ 487 ล้านรูป)
  • มี plugin บน firefox

ข้อเสีย :

  • ยังสนับสนุนแค่ไฟล์ jpg, gif, png เท่านั้น
  • ไม่สามารถเพิ่ม tag หรือ keyword อื่นๆ เข้าไปได้
  • ไม่สามารถเพิ่มลดระดับความเหมือนของรูปได้ว่ามากน้อยเท่าใด

สรุป : หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเราจะไปค้นหารูปอีกทำไมในเมื่อรูปที่เราต้องการนั้นมีอยู่ในมือเราแล้ว แต่ถ้าดูจากผลทดสอบข้างต้น จะเห็นได้ว่า เราอาจจะค้นหารูปที่มีขนาด หรือคุณภาพดีกว่าที่เรามีอยู่ก็ได้ หรือบางครั้งเราเดินไปพบอะไรในชีวิตประจำวัน ก็สามารถหยิบเอากล้องมือถือมาถ่ายอย่างลวกๆ แล้วกลับบ้านมาค้นหารูปต้นฉบับอีกทีก็ได้ ซึ่งหากอนาคตระบบสามารถใช้ keyword หรือ tag ในการค้นหาเพิ่มได้จะดีขึ้นอีกมาก

อีกมุมนึงที่น่าสนใจคือเรื่องของลิขสิทธิ์รูปที่เราสามารถค้นหาว่ามีใคร นำรูป ของเราไปใช้อย่างผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หรือการค้นหาตัวตนของ MSN, Hi5 หรือ Facebook แปลกหน้าที่เข้ามาคุยกับเราได้ว่าจริงๆ แล้วเขาคือคนที่เราต้องการคุยจริง หรือเพียงไปคัดลอกรูปมาจากแหล่งอื่นๆ เพียงเท่านั้น

TinEye ยังอยู่ในช่วง private beta ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานเฉพาะกับสมาชิกเท่านั้น คาดว่าคงจะเปิดให้ใช้บริการจริง พร้อมกวักมือรอกูเกิลเข้ามาซื้อในเร็วๆ นี้

ที่มา