วันนี้ครบรอบ 1 ปีที่ผมตัดสินใจลาออกจากการทำงานที่ Thomson Reuters Software Thailand (RSTL) หลังจากทำงานมา 7 ปีกับอีก 5 เดือน ตำแหน่งสุดท้ายที่ทำคือ Lead Software Engineer
จริงๆ ตั้งใจจะเขียนประสบการณ์ทำงานที่ Reuters มานานแล้ว เพียงแต่อยากรอให้เวลาผ่านไปสักพักหนึ่งก่อน ซึ่งคิดว่าตอนนี้ก็น่าจะเป็นเวลาที่ดีที่จะได้แชร์ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ได้เรียนรู้จากที่บริษัทแห่งนี้
อ่านเพิ่ม : ในวันที่ผมยื่นใบลาออกจากบริษัท Thomson Reuters
รู้จักกับ Reuters Software Thailand
ผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายคนที่ทำงานในวงการไอทีบ้านเรา น่าจะพอรู้จัก Reuters มาบ้าง เคยได้ยิน หรือมีเพื่อน พี่น้องทำงานอยู่ในบริษัทแห่งนี้
ขอรวบรวมเรื่องของบริษัทสั้นๆ ไว้เผื่อใครไม่รู้จัก
- Reuters เป็นสำนักข่าว แต่รายได้หลัก 75% มาจากการทำซอฟต์แวร์ด้าน Finance ขาย ซึ่งหัวใจหลักคือเทคโนโลยีโดยเฉพาะซอฟต์แวร์
- เป็นบริษัทระดับโลกไม่กี่แห่งที่ยึดเอาเมืองไทยเป็น Development Site หลักและใหญ่ที่สุด เคยมีพนักงานมากถึง 1,500 คนที่ทำด้านซอฟต์แวร์ล้วนๆ
- สมัยก่อนชื่อ Reuters Software Thailand ตอนหลังบริษัท Thomson มาซื้อกิจการไป เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Thomson Reuters Software Thailand แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเรียกสั้นๆ แค่ว่า Reuters
- งานหลักในไทยคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ Developer, QA, Support, Project Manager ส่วนงานด้านการขายจะอยู่ตามประเทศต่างๆ
- เป็นบริษัทแรกๆ ในไทยที่ได้ CMMi Level 5
- เงินดี, สวัสดิการ(โคตร)ดี, ออฟฟิศดี, สาวสวย, หนุ่มหล่อ, ทำงานเป็นระบบ, แต่งชุดสบายๆ, ชิว
- เป็นหนึ่งในบริษัทเป้าหมายหลักของเด็กจบใหม่หลายคนมาสมัครงาน
ประสบการณ์ที่อยากแชร์ในบล็อกนี้ จะขอพูดถึงเรื่องเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจในมุมที่คนนอกหลายคนอาจจะไม่เคยสัมผัส และนี่เป็นประสบการณ์ที่ได้ตลอด 7 ปีที่ทำงานที่ Reuters มาครับ
1. ฝรั่งไม่ได้เก่งกว่าเรา
คำถามแรกที่ผมถามหัวหน้าหลังจากได้ทำงานที่ Reuters คือ “ทำไมเขาถึงเลือกเมืองไทยเป็น Development Site หลัก ?”
ด้วยความที่เราเป็นบล็อกเกอร์สายไอที เราก็เห็นบริษัทดังๆ อย่างพวก Google, Microsoft ก็ไปเลือกอินเดีย, จีน, ออสเตรเลีย หรือที่อื่นกันหมด ที่เปิดในไทยก็มีแต่ฝ่ายขาย แล้วทำไม Reuters ถึงเลือกที่นี่
คำตอบที่ผมได้รับกลับมานั้นเป็นเรื่องราวที่ยาวพอสมควร ขอสรุปดังนี้
- สมัยแรกเมืองไทยก็มีแค่สำนักข่าว Reuters แต่ตอนหลังก็มีทีมไอทีและมีการซื้อบางบริษัทในไทยมาบ้าง
- ยุคนั้นมีพนักงานไม่ถึง 30 คน แต่ก็ได้มีการทดลองทำโปรเจ็คซอฟต์แวร์หลายตัว จนพิสูจน์ว่าคนไทยก็ทำได้นะ
- Reuters มีโปรแกรมหลายสิบตัว แรกเริ่มก็มีการทดลองนำบางโปรเจ็คมาทำเมืองไทย โดยส่งทีมงานไปรับงานที่ต่างประเทศ ไปนานหลายเดือน เรียกกันว่า “Transition” เอากลับมาทำเมืองไทย (คือจะบอกแย่งงานฝรั่งมาทำก็ได้)
- ทำไปทำมา เฮ้ย ฝรั่งก็เห็นว่าเราทำได้ ค่าแรงก็ถูก (กว่าฝรั่ง) ก็เริ่มมีงานมากขึ้น รับคนมากขึ้น ส่งไป Transition มากขึ้นๆๆๆๆ
- คำสอนแรกที่ผมได้จากหัวหน้าคือ “ฝรั่งไม่ได้เก่งไปกว่าเรา”
- นั่นเป็นการทลายกำแพงในใจไปหมดสิ้นเลย เพราะเรามักมีความรู้สึกลึกๆ ว่า “ฝรั่งแม่งเก่งว่ะ”, “ฝรั่งมันทำมาก่อนเรา ก็ต้องเก่งกว่าเราสิ”
- คือการทำงานในบริษัทข้ามชาติระดับนี้ ถ้าเรารู้สึกว่าฝรั่งเก่งกว่าเมื่อไหร่ เราก็จะโดนฝรั่งแย่งงานไปทำ โลกนี้มันแบน ในเวลาไม่ถึง 3 เดือนทีมงานกว่า 20 คนก็อาจโดนยุบ แล้วงานตกไปอยู่ในมือทีมงานอีกประเทศนึงได้
- ตั้งแต่นั้นมาผมก็กล้าทำงานกับฝรั่ง กล้าเถียง กล้าถาม กล้าที่จะแสดงให้เห็นว่าเราก็ทำได้ บางอย่างเราทำได้ดีกว่าด้วย
|
สภาพโต๊ะทำงานช่วงดึก ที่ผมเคยชอบอยู่ดึกดื่นคนเดียว |
2. ทำงานเก่งไม่จำเป็นต้องอยู่ดึก
ก่อนเข้ามาทำที่ Reuters ผมเคยทำ Outsource อยู่หลายที่ ซึ่งแน่นอนว่างานหนัก กลับดึก ตามประสาคนไอที ไม่เคยกลับก่อนพระอาทิตย์ตกดินหรอก ตี 3 โบกแท็กซี่กลับบ้านก็มี
ผมติดนิสัยนั้นจนมาอยู่ที่ Reuters และก็พบว่าพอทุ่มสองทุ่ม มองไปรอบตัว “เฮ้ย .. หายไปไหนหมดวะ” นาทีนั้นก็หัวเราะในใจ แต่ก็ก้มหน้าขยันต่อไป
จนถึงเวลาประเมินพ้นโปร ผมก็ได้รับคำถามที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน “ทำไมอยู่ดึกจัง ? ทำงานไม่ทันเหรอ ? พี่พยายามให้งานเท่ากับคนอื่นๆ แล้วนะ”
ความเชื่อที่ผมเคยได้จากการทำงานบริษัทไทยหลายแห่ง ที่เจ้านายชอบมองว่าคนกลับดึกคือคนขยัน แต่พอมาอยู่ที่นี่ ผมกลายเป็นคนทำงานไม่เสร็จ ในขณะที่คนอื่นกลับบ้านไปหมดแล้ว ไอ้หมอที่มันต้องทำงานช้าแน่ๆ ทำงานแย่กว่าคนอื่นแน่เลย
เฮ้ย !! ตั้งแต่นั้นมา ผมก็แทบจะเลิกกลับดึกไปเลย ผมทำงานทุกอย่างให้เสร็จในเวลา
สั่งอะไรมา ลุยๆๆๆ เสร็จปุ๊บ กลับบ้าน มีเวลาให้ตัวเอง มีเวลาไปเฮฮากับเพื่อนๆ มากขึ้น ประเมินคะแนนออกมาก็ดีไม่แพ้คนอื่นซะด้วย
3. เก่งแต่นำเสนอไม่เป็น ไม่มีประโยชน์
ผมโชคดีมากที่เป็นคนชอบการนำเสนองาน ชอบคิด ชอบเขียน อย่างการเขียนบล็อก การทำเว็บ ทำให้รู้วิธีการทำ Content ให้น่าสนใจ มีส่วนช่วยให้ทักษะการพรีเซนต์งานติดตัวมาด้วย
ฝรั่งชอบคนที่กล้าพูด กล้าเสนอ ผมจำครั้งแรกที่พรีเซนต์งานเป็นภาษาอังกฤษได้แม่น วันนั้นมีคนในห้องเกือบ 15 คน ผมเด็กที่สุดในนั้น แถมอีกซีกโลกนึกมีฝรั่งอีก 2-3 คนรอฟังผ่านระบบ Teleconference
โอ้โห ไม่ต้องบอกเลยว่าตื่นเต้นแค่ไหน วิ่งไปฉี่กี่รอบก่อนหน้านี้ มือเย็น มือสั่น เสียงสั่น
แต่สิ่งนึงที่ผมกลับทำได้ดี คือพรีเซนต์สวย เข้าใจง่าย ผมนำเสนอเรื่องการคำนวณตัวเลขแบบใหม่ ซึ่งปกติก็ต้องอธิบายยาวเหยียด แต่วันนั้นผมทำเป็น Infographic นำเสนอด้วยภาพ ดูไม่กี่สไลด์ก็เข้าใจว่าระบบใหม่ทำงานยังไง
ผลคือฝรั่งจำผมได้ พูดเสียงสั่นไม่รู้เรื่องแต่ทุกคนเข้าใจ กลายเป็นการนำเสนอที่เป็นไฮไลท์ของวันนั้น และตอนสิ้นปีผมได้เลื่อนขั้นเป็น Senior ในปีแรกที่ทำงาน
พี่หัวหน้าบอกว่า “ปกติฝรั่งจะถามเยอะนะว่าทำไมเลื่อนขั้นให้คนนั้นคนนี้ แต่พอเป็นชื่อเรา … เค้าจำได้“
ตลอดเวลาหลายปีที่ทำงานมา ผมเห็นเพื่อนพี่น้องหลายคนที่เก่งมากๆ โคตรเก่งเลยแหล่ะ แต่เค้าไม่สามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองทำได้ มีแค่คนสองคนที่ทำงานด้วยจะรู้ว่าเขาเก่งแค่ไหน แต่คนอื่นไม่รู้เลย
มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอกครับ ถ้าเราเก่ง แต่ไม่มีใครรู้ว่าเราเก่งจริง … สมัยนี้เก่งอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ เราต้องรู้จักวิธีการนำเสนองานด้วย นำเสนอสิ่งที่เราทำด้วย
ไม่ต้องพรีเซนต์เก่งก็ได้ แต่ขอให้พรีเซนต์เป็น
ไม่ต้องพูดเก่งก็ได้ แต่ขอให้พูดเป็น
4. ได้ไปทำงานเมืองนอก ไม่ได้เท่ห์อย่างที่คิด
ครั้งนึงผมได้มีโอกาสไป Transition งานที่ประเทศอังกฤษนาน 40 วัน โอ้โห แค่ฟังก็เท่ห์แล้ว พอรู้ตัวว่าจะได้ไปทำงานเมืองนอก ผมรีบโทรอวดพ่อแม่พี่น้อง โหย ทุกคนบอก เจ๋งมาก อิจฉาๆ
ด้วยความหลงไปกับคำว่า “ไปทำงานเมืองนอก” สิ่งที่ผมเตรียมตัวอย่างหนักก่อนไปทำงานคือ
– อังกฤษเที่ยวไหนดี
– เสื้อกันหนาวชุดไหนสวย
– จะไปดูบอลแมนยูไปยังไงหว่า
– เขียนบล็อกจากอังกฤษ คงเท่ห์พิลึก คริ คริ
ความซวยมาบังเกิด เมื่อวันแรกที่ไปถึง และต้องเริ่มทำงาน ผมไปถึงออฟฟิศ ก็นั่งพักผ่อน เปิดคอมเช็คข่าวโน่นนี่ จนพี่หัวหน้าคนไทยที่ไปด้วยส่งข้อความมาถามว่า “ทำไมไม่ไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน ? เรามาทำงานนะ ไม่ได้มาเที่ยว”
เรามาทำงานนะ ไม่ได้มาเที่ยว … ประโยคนี้วนลูปอยู่ในหัวตลอดทั้งวัน เพราะตลอดเวลาช่วงเช้า ผมฟังงานที่ฝรั่งให้มาไม่เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องภาษาแต่เป็นเรื่องเทคนิค ที่ผมควรจะต้องเตรียมตัวมาตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้ว
ซึ่งฝรั่งเขาก็ไม่สนหรอกครับว่าเราเข้าใจรึเปล่า ให้งานมาก็ต้องทำให้เสร็จ คาดหวังกับเราไว้สูงด้วยซ้ำ สุดท้ายผมแทบไม่ได้นอนในสัปดาห์แรก อ่านเอกสารเป็นร้อยๆ หน้า ทดสอบโปรแกรมแทบทั้งคืน
เรามาทำงานนะ ไม่ได้มาเที่ยว
อ่านเพิ่ม : Life in UK
5. ฝรั่งโหด แต่แฟร์
ตลอดเวลา 7 ปีผมอยู่ในบริษัทช่วงขาขึ้นและขาลงมาตลอด ขาขึ้นก็ไม่ต้องพูดถึง ทุกอย่างจัดเต็ม ทำงานเต็มที่ ฉลองเต็มที่ ขยับขยายรับคนเพิ่ม หุ้นขึ้น เบิกบานกันทั่วออฟฟิศ ก็ไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ
แต่ในยามขาลง มันมีความแตกต่างระหว่างบริษัทคนไทยกับบริษัทฝรั่งที่เห็นได้ชัดอยู่หลายข้อ
- ฝรั่งเห็นส่วนไหนไม่ดี ส่วนไหนมีปัญหา เค้าตัดทิ้งเลย ตัดโชะ !! รวดเร็ว ว่องไว จนไม่มีใครรู้มาก่อน หรือเดาไม่ออกเลยว่าจะโดนตัด
- ผมหมายถึงการ Layoff คนออกจากบริษัท หรือการยุบทีม มันเกิดขึ้นเร็วมาก และว่องไวมาก
- แต่ในขณะที่ทุกคนช็อค เขาก็ดูแลเราดีมากด้วยเช่นกัน ผมไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่โดน Layoff ได้ค่าตอบแทนขนาดไหน แต่ก็เยอะจนบางคนไม่ต้องทำงานอะไรเลยซัก 1-2 ปีก็ได้
- บริษัทดูแลถึงขนาดเชิญบริษัทจัดหางานเข้ามาในออฟฟิศ และช่วยคนที่โดน Layoff ให้ได้งานที่ดีในบริษัทอื่นๆ มันคือความใจกว้างและการดูแลที่ดีจนน่าประทับใจ มี Spirit มาก
- จนหลายคนอยากโดน Layoff บ้าง (ฮาาาา)
- ตรงข้ามกับบริษัทคนไทยบางแห่ง ที่ผมเห็นเพื่อนๆ ทำงานอยู่ ผู้ใหญ่เขาไม่กล้าเอาคนออก ขี้งก ไม่อยากจ่ายแม้แต่ค่าเสียหายขั้นต่ำตามกฏหมาย
- ไม่น่าเชื่อว่าบางคนโดนลดเงิน ลดตำแหน่ง ถูกบีบให้ลาออกเอง เพราะบริษัทกลัวต้องจ่ายค่า Layoff ซึ่งเป็นแนวคิดที่เข้าใจได้ แต่ไม่มี Spirit เอาซะเลย
6. ต้องมีคนเก่งในทุกระดับ
หลังจากได้เห็นทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงของบริษัทมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ผมคิดว่าปัจจัยทั้งหมดอยู่ที่ “คน” โดยเฉพาะคนในระดับ “ผู้นำบริษัท”
ผมคิดว่าสาเหตุที่ Reuters มีปัญหาจนต้อง Layoff คนออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากปัญหาในทีมงานระดับผู้นำบริษัท (ขออภัยเพื่อนๆ ที่ยังคงทำงานอยู่ที่ Reuters) โดยเฉพาะระดับที่ต้องตัดสินใจ
หลายครั้งเหลือเกินที่บริษัทตัดสินใจทำโครงการ A, B, C, D, E แล้วสุดท้ายมีแค่โครงการ C ที่เก็บไว้ โครงการที่เหลือโละทิ้ง ไม่ทำต่อ หลายโปรเจ็คที่ผมร่วมทำด้วย ใช้เวลาทุ่มเทไปกว่าปี ทีมงานหลายสิบคน แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไป
อารมณ์น่าจะคล้ายกับ Microsoft ที่มีปัญหาในลักษณะคล้ายๆ กัน ด้วยความที่องค์กรใหญ่มาก ผู้บริหารระดับกลางต้องใช้กำลังภายในสูงเพื่อดันโปรเจ็คของตัวเอง การเมืองก็เริ่มตามมา
คือทีมงานระดับล่างนี่เก่งมากเลยนะ โคตรเก่งเลยแหล่ะ บอกให้ทำอะไรทำได้หมด ทำได้ดีด้วย
แต่พอทำแล้วไม่ได้ใช้ ทำแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันก็เป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดาย ซึ่งข่าวดีก็คือช่วงหลังบริษัทเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง กลุ่มผู้บริหารใหม่ๆ มีวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้นมาก ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผมเชื่อว่าทุกคนในบริษัทไม่ต้องเก่งเทพหมด แต่อย่างน้อยควรจะมีระดับซุปเปอร์ฮีโร่ในระดับบน, ระดับกลาง และระดับล่าง เก่งแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่พอที่จะทำให้บริษัทไปรอดจริงๆ
|
เพื่อนๆ ที่มางานแต่งงานของผมกันพร้อมหน้า แม้จะย้ายทีมไปแล้วก็ยังมากันเยอะเลย |
7. เพื่อนร่วมงานเป็นส่วนสำคัญ
ถ้าให้เลือกสิ่งที่ประทับใจที่สุดตลอดช่วงเวลาที่ทำงานใน Reuters คืออะไร ผมไม่รีรอเลยที่จะตอบว่า “เพื่อนร่วมงาน“
ด้วยความที่การทำงานที่นี่มีความยืดหยุ่นสูง งานที่ทำไม่ซ้ำซากจำเจ มีโปรเจ็คที่ท้าทายเข้ามาเสมอๆ แถมมาจากเมืองนอกซะด้วย ทำให้การทำงานเป็นทีมสำคัญกว่าความเก่งส่วนบุคคล
ผมไม่รู้ว่าหัวหน้าผมเค้าสร้างทีมได้ยังไง รู้แต่ว่าพวกเรา 30-40 คนสนิทกันมาก สู้งานด้วยกัน รับผิดชอบร่วมกัน ฉลองไปด้วยกัน เราสนิทกันถึงขนาดยกทีมกันไปฉลองวันเกิดให้หัวหน้าที่ต่างจังหวัด ไปเที่ยว(กินเหล้า)ที่ไหนก็ไปด้วยกัน
แม้จะลาออกมาแล้ว แต่ก็ยังผูกพันกันเสมอ อย่างที่ผมเองลาออกมา ก็ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
ออกมาทำบริษัทด้วยกัน คือเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดเลยถ้าการสร้างทีมไม่ได้ดีพอ
ทุกวันนี้บริษัทถึงกับสร้างกลุ่มศิษย์เก่า RSTL (Reuters Alumni) มีส่งข่าวมาให้เป็นระยะๆ เวลารับคนใหม่ๆ ก็ส่งมาบอก มีห้องให้เข้าไป Chat พูดคุย ถึงลาออกไปแล้ว ก็ยังรู้สึกผูกพัน
|
โต๊ะทำงานของผม วันที่แมนยูแพ้ลิเวอร์พูล (เรารักกันจริงๆ) |
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ 7 ปีที่ได้ร่วมงานกับ Reuters ในฐานะคนทำซอฟต์แวร์ ที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่เป็น Junior ไปจนถึงตำแหน่ง Lead ได้เรียนรู้อะไรมากมายจริงๆ
ทุกวันนี้เวลาที่มีใครมาถามว่าทำงานที่ Reuters ดีรึเปล่า ? ผมไม่เคยรีรอเลยที่จะตอบกลับไปว่า “ดีมาก” และชักชวนให้คนที่รู้จักได้ลองเข้าไปร่วมงานดู
มีประสบการณ์อีกหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา ไว้มีโอกาสจะมาแชร์ให้ได้อ่านกันนะจ๊ะ ^__^